เศรษฐกิจพอเพียงสไตล์ผู้บริหารยุ่น
ไม่ขออะไรมาก..ขอเพียงโหวตให้กำลังใจคนทำเว็บ
เศรษฐกิจพอเพียงสไตล์ผู้บริหารยุ่น
หากพูดถึงวงการการพิมพ์ หรือ พริ้นเตอร์ หลายๆ คนคงจะนึกถึงเอปสันเป็นอันดับต้นๆ ด้วยชื่อเสียงและคุณภาพที่สั่งสมมานาน และด้วยชื่อเสียงของญี่ปุ่น ต้นกำเนิดของเครื่องพิมพ์เอปสัน ยิ่งเป็นส่ิงการันตีได้ว่า นวัตกรรมการพิมพ์ของเอปสันย่อมไม่เป็นที่ 2 รองใครแน่นอน
แต่หากพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เข้ากับยุคกับสมัยของเมืองไทยและทั่วโลก และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความเป็นชาตินิยมสูง จึงไม่แปลกหากเราจะเข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนญี่ปุ่น ที่มาบริหารงานในเมืองไทย และดูการใช้ชีวิตที่ผสมผสานกันระหว่างการนำชาตินิยมกับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบัน วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ จึงถือโอกาสเข้าพบปะพูดคุยกับผู้บริหารเอปสันประจำประเทศไทย นั่นคือ นายเออิจิ คาโตะ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด
สภาพเศรษฐกิจขณะนี้ คนไทยรัดเข็มขัดในฐานะผู้บริหารองค์กรคุณเออิจิมีเทคนิกในการใช้เงินให้คุ้มค่าอย่างไร
นายเออิจิ : ใช้เงินให้คุ้มค่า ไม่ได้หมายความว่า ให้ใช้เงินจำนวนน้อยที่สุด ประหยัดสุด ถูกสุด แต่หมายถึงการใช้เงินที่คุ้มประโยชน์ จะคิดใช้จ่ายหรือลงทุนอะไรก็ต้องคิดแล้วว่า สิ่งที่จะจ่ายไปนั้นได้ทำมาใช้ประโยชน์และคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกซื้อสินค้า ถ้าเป็นอุปโภคบริโภคที่เรามีความจำเป็นต้องใช้อยู่เสมอ เราควรประเมินปริมาณการใช้งาน ระยะเวลา และคิดค่าเฉลี่ยออกมา บางครั้งซื้อชิ้นน้อยๆราคาถูก แต่บ่อยๆ คิดรวมๆแล้ว อาจจะแพงกว่าซื้อเป็นแพคเพื่อใช้ยาวๆก็เป็นได้ ทั้งนี้ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและศักยภาพในการใช้จ่ายของครอบครัวเป็นหลักด้วย หรือ หากเป็นการซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ ก็ควรประเมินความคุ้มค่าระยะยาว ทั้งค่าบำรุงรักษา ค่าอุปกรณ์เสริม ค่าใช้จ่ายรายเดือนต่าง ๆ ที่จะตามมาในภายหลัง บางครั้งไม่ควรมองที่ราคาเริ่มต้นว่าถูกเพียงอย่างเดียว คุณภาพอาจไม่ทนนาน หรือมีจ่ายค่าใช้จ่ายแอบแฝงภายหลัง
มีแนวคิดอยู่อย่างหนึ่งที่อยากจะแนะนำ ที่บริษัทต่างๆในญี่ปุ่นใช้กันมานาน รวมถึงเอปสันด้วย เรียกว่า Kaizen (ไคเซน) แปลว่า “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม” เป็นหลักคิดแบบญี่ปุ่นที่เริ่มใช้ในโรงงานจนแพร่หลาย ต่อมาองค์กรบริษัทต่างๆก็นำมาใช้ด้วย เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมองว่าทุกองค์กรต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ โดยพนักงานในองค์กรเป็นกลไกสำคัญ เราเองก็สามารถใช้แนวคิดนี้ ปรับปรุงการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย เพราะการดำเนินกิจกรรมต่างๆในองค์กรมีการค่าใช้จ่ายอยู่ตลอดเวลา ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ซึ่งหลักคิดแบบไคเซน จะสอนคนในองค์กรให้มองหาจุดบกพร่องของการ operation งานในแต่ละภาคส่วนว่ามีอะไรที่ทำให้ Cost เพิ่มสูงโดยไม่จำเป็นหรือไม่ สิ่งสำคัญก็คือ คนทุกคนในองค์กรต้องยอบรับในปัญหาและพร้อมที่จะช่วยกันแก้ อาจไม่ถึงกับต้องแก้แบบเปลี่ยนโดยฉับพลันแต่ค่อยๆทำ ช่วยกันทีละเล็กทีละน้อย ก็จะช่วยให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพขึ้นได้
คำจำกัดความของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง
นายเออิจิ : ผมเองก็พอจะทราบเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอยู่บ้าง ซึ่งเป็นดำริของในหลวงที่ดีมากและเหมาะสมกับสังคมไทย แม้ว่าในยุคนี้เศรษฐกิจโลกจะหมุนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสทุนนิยม และ เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาแบบวันต่อวันเลย ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากและคนในสังคมก็ต้องเร่งพัฒนาตัวเอง องค์กรธุรกิจก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ แต่เช่นกัน ในความเปลี่ยนแปลงที่เร่งด่วนนี้ ใช่ว่า ทุกคนจะต้องหมุนไปตามกระแส โดยไม่ได้มองตัวตนหรือศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง หลักของคำว่า พอเพียง คงไม่ได้หมายถึง น้อยๆ ประหยัดๆ หรือ ห้ามลงทุน ห้ามขยายธุรกิจ หรือ เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผมมองว่า ทุกคนในทุกภาคส่วน สามารถใช้คำว่าพอเพียง เป็นตัวกำหนดการใช้ชีวิตมากกว่า
คำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ของคนคนหนึ่ง อาจจะมีระดับที่ต่างกันกับอีกคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสถานภาพและเกณฑ์ชีวิตของแต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะบอกได้คือ เมื่อทำธุรกิจ หรือ ประกอบอาชีพอะไรแล้วนั้น สิ่งที่หามาได้พอเพียงกับที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิต พอมีเหลือเก็บเวลาฉุกเฉิน หรือ เจ็บป่วยไหม คือให้รอบคอบกับสิ่งที่หามาและใช้ไป รู้จักเก็บรู้จักใช้
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ แน่นอนว่า ย่อมมีเป้าหมายเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด แต่ในแบบเศรษฐกิจพอเพียง ผมมองว่า ต้องเพิ่ม “ความยั่งยืน”เข้าไปด้วย ในการทำธุรกิจแน่นอนต้องลงทุน ต้องแข่งขัน ต้องสร้างกำไร แต่ต้องรู้จักวางแผน และประเมินศักยภาพของตนให้ดี และทำไปด้วยความพอเหมาะพอดี ไม่ใช่ว่า เห็นโอกาสที่จะได้กำไรงาม ก็ทุ่มเทลงทุนไป โดยไม่ได้มองดูว่า คุ้มค่าหรือไม่ พยายามเพิ่มอัตราการผลิตโดยไม่ศึกษาตลาด หรือ ทำไปโดยไม่พร้อม ผลที่ออกมาไม่ดีพอ ก็ล้มเหลวได้ทั้งสิ้น อันนี้ ผมก็มองว่าแนวคิดมาประยุกต์ใช้ได้
คำว่าพอเพียงกับพอดีต่างกันอย่างไร และคิดว่าองค์กรของเอปสันเป็นแบบไหน เพราะอะไรจึงคิดว่าเป็นอย่างนั้น
นายเออิจิ : ผมว่าคำนี้ใกล้เคียงกันมากนะ คิดว่าเป็นแนวทางเดียวกัน คำว่าพอเพียงอย่างที่กล่าวไปคือพอเพียงกับความต้องการและความจำเป็นของคนคนหนึ่ง หรือ ธุรกิจหนึ่ง ซึ่งอาจแตกต่างกันไป แต่การจะได้มาซึ่งความพอเพียงนั้น ก็ต้องมีความพอดีด้วย คือ พอดีในการใช้จ่าย พอดีในการลงทุนลงแรง ไม่หักโหมเกินตัว จนสุดท้ายตัวเองไม่รอด ผมคิดว่าคำสองคำนี้ใช้ควบคู่กัน
สำหรับเอปสันเอง เป็นองค์กรที่อยู่ในหลักเกณฑ์นี้เช่นกัน เราพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีที่คิดค้นและเป็นของเราเอง เราปรับปรุงพัฒนาจนมีสินค้าที่หลากหลาย รองรับความต้องการของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ซึ่งทุกสิ่งเริ่มต้นจากตัวเราเองทั้งสิ้น เรารู้ศักยภาพของเราและพัฒนาออกมาตามเหมาะสมกับเวลา แน่นอนว่าในยุคดิจิตอลทุกอย่างเป็นการแข่งขัน แต่เราก็ไม่กระโดดออกจากความเป็นตัวตนของเรา เราไม่พยายามเป็นคนอื่นโดยการเปลี่ยนแปลงที่เกินจริง เรารู้ว่าเราพอดีกับอะไร และ ดีที่สุดในจุดนี้ ซึ่งมันทำให้เราเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า ผลิตภัณฑ์ของเราจึงเชื่อถือได้
อยากให้แนะนำคนไทยในฐานะภาคธุรกิจที่เป็นคนต่างชาติว่าคนไทยควรใช้ชีวิตและอยู่อย่างไรจึงจะมีความสุข เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯหรือจีน
นายเออิจิ : ถึงประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ประเทศไทยมีทรัพยากรทุกอย่างที่เพียงพอ มีสิ่งที่ประเทศอื่นๆไม่มีมากมาย ดังนั้น วิธีมีความสุขก็ง่ายมาก เพียงแค่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ รักษาไว้ หรือ พัฒนาสิ่งเหล่านั้นให้ชาติอื่นๆได้ประจักษ์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประเทศต่าง ๆ มาเยือนต่างก็ประทับใจ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวน่าจะเป็นธุรกิจที่ไทยควรจะโฟกัสในระดับโลกมากขึ้น นอกจากนี้ ในแง่อุตสาหกรรมประเทศไทยก็เป็นประเทศที่น่าลงทุน เพราะมีศักยภาพที่ดีทั้งในแง่ทำเลและค่อนข้างจะเปิดรับต่อเทคโนโลยีวิทยาการต่าง ๆ แต่แน่นอนว่า ไทยเองควรเปิดรับให้มีต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งก็ทำให้ประเทศอื่นๆเปิดประเทศรับการลงทุนจากไทย เช่นกัน เมื่อมีทั้งเข้าและออก ก็จะทำให้โอกาสในการทำธุรกิจของคนไทยทั้งในและนอกประเทศมีมากขึ้น การอยู่อย่างมีความสุขของคนไทย ก็คือทุกคนอยู่ได้ พอกินพอใช้ ไม่ต้องเร่งต้องเหนื่อยกับการแข่งขันที่สุดท้ายอาจบาดเจ็บกันหมด การทำธุรกิจก็เช่นกัน อยากให้มองที่ศักยภาพและพัฒนาตนเองและขยับขยายตามความเหมาะสม ไม่ได้หมายความว่า
ให้ทำช้าๆ หรือ ไม่พัฒนาเลยนะ แต่ว่าให้ประเมินสถานการ์ณ หากโอกาสมาและไตร่ตรองได้ถี่ถ้วนแล้ว ก็ลงทุนได้เลย
ความพอเพียงในแบบเซนของญี่ปุ่นกับความพอเพียงกับไทยมีความแตกต่างกันอย่างไร
นายเออิจิ : เซน เป็นแนวทางพุทธอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหลักการดำเนินชีวิตใช้วิถีแห่งสติและปัญญาเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มนุษย์รู้และเข้าใจธรรมชาติของโลกด้วยตนเอง ซึ่งค่อนข้างจะหนักไปทางศาสนาเพื่อการบรรลุธรรม สร้างความสมดุลให้กับจิตใจ ซึ่งก็คงมีส่วนที่เหมือนกันอยู่บ้างคือเรื่องของความสมดุลและการรู้จักตนเอง ถ้าเรารู้จักสร้างความสมดุลให้กับตนเองนั่นก็คือความพอเพียงอย่างหนึ่ง คือ ความพอเพียงสามารถเอาแนวคิดเซนบางอย่างมาประยุกต์ได้
นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่หลายๆคนอาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เหมาะกับยุคเศรษฐกิจปัจจุบันของโลก และของเมืองไทย สยามเมืองยิ้มแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้