แร่ทองคำมาจากไหน

ไม่ขออะไรมาก..ขอเพียงโหวตให้กำลังใจคนทำเว็บ
แร่ทองคำ
ตลาดทองดอทคอม ขอขอบพระคุณ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ในการเกิดขึ้นของแร่ทองคำตามลักษณะที่พบในธรรมชาติคือแบบ ปฐมภูมิและแบบทุติยภูมิ ใน แบบแรกปฐมภูมิหรือในชั้นหิน แข็ง แหล่งแร่ทองคำที่เกิดจาก กระบวนการทางธรณีวิทยาลักษณะนี้ เช่น กระบวนการ นํ้าแร่ร้อน กระบวนการแปรสัมผัส กระบวนการเติมสารละลายซิลิกา เป็นต้น ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำ ในหินชนิดต่าง ๆ ทั้ง หินอัคนี หินชั้น และหินแปร ทองคำ ที่เกิดอาจจะฝังปะปนอยู่ในเนื้อ หินหรือสายแร่ที่แทรกในหินแต่ส่วนใหญ่จะมองไม่เห็น ด้วยตาเปล่า มีส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน
ขณะที่แหล่งแร่ทองคำแบบทุติยภูมิหรือแหล่งลานแร่ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำลักษณะแรก แล้วสะสมตัวในที่เดิมหรือ ถูกนํ้าชะล้างพาไปสะสมตัวในที่ใหม่ ในบริเวณต่าง ๆ ที่เหมาะสม อย่างเช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำ เมื่อขุดร่อนดินหากดินเหนียวมีลักษณะเป็น สีแดง ๆ แดงปนน้ำตาลหรือน้ำตาลไหม้ กรวดเป็นสีขาวขุ่น สีน้ำนมหรือสีงาช้างปะปนกับกรวดสีเขียว เขียวเทาและเทาดำจำนวนมากและหากบริเวณนั้นเป็นแหล่งแร่ก็จะสามารถพบทองได้
“แร่ทองคำมีกระจายอยู่ทั่วไปทุกสภาพภูมิประเทศสามารถพบเจอได้ถ้ามีลักษณะการเกิดในรูปแบบนี้ แต่ทั้งนี้ประเด็นสำคัญต้องสำรวจพบหินที่ให้กำเนิดแร่ทองคำก่อน อย่างเช่น หินแกรนิต หินแกรโนไดออไรต์ บางครั้งก็เป็นหินภูเขาไฟ จำพวกแอนดีไซต์ ไรโอไลต์ บริเวณที่มีการสัมผัสระหว่างหินอัคนีแทรกซอนกับหินชั้น หินตะกอนที่มีรอยแตก ในหินตะกอนพวกนี้สามารถให้น้ำแร่ร้อนพาทองไปสะสมตัวอยู่ตามรอยแตก ดังนั้นถ้าสถานที่ใด ทวีปโลกไหนที่มีลักษณะหินในลักษณะนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ของแหล่งแร่ทองคำ”
ในบ้านเราที่พบมีทั้งในหินแข็งและหินผุพังกระจายตัวอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด โดยภาพรวมแล้วเป็นแนว หรือเป็นกลุ่ม การสำรวจแหล่งแร่ทองคำ กรมทรัพยา กรธรณีได้ศึกษาต่อเนื่องมายาวนานด้วยวิธีการทางธรณีวิทยาธรณีเคมี ธรณีฟิสิกส์โดยทำการสำรวจทั้งทางอากาศ บนผิวดินและใต้ดิน
การสำรวจทางอากาศ เป็นการสำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยใช้เทคนิคการสำรวจหลายด้าน เช่น ดาวเทียม การถ่ายภาพทางอากาศ การสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อตรวจวัดคุณสมบัติทางฟิสิกส์หรือถ่ายภาพของพื้น ผิวโลกแล้วนำมาศึกษา แปลความหมายเพื่อหาบริเวณที่มีลักษณะหรือโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่เหมาะสมแก่การสะสมตัวของแหล่งแร่
“การสำรวจเป็นไปตามขั้นตอนหลายขั้นตามหลักวิชาการ หลังการสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศเมื่อทราบศักยภาพดังกล่าวก็จะติดตามผลภาคพื้นดิน สำรวจทางธรณีวิทยาในบริเวณนั้นเพื่อให้ทราบชนิดหินว่ามีความเหมาะสมที่จะเกิดแร่ทองคำหรือไม่ จากนั้นจะเป็นการสำรวจธรณีเคมีในบริเวณกว้าง เก็บตะกอนทองน้ำนำมาวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อหาปริมาณทองคำ
สำรวจธรณีเคมีซ้ำเพื่อให้ได้พื้นที่เป้าหมายที่เล็กลง จากนั้นสำรวจธรณีเคมีและธรณีวิทยารายละเอียดซ้ำอีกและสำรวจธรณีฟิสิกส์โดย ใช้เครื่องมือสำรวจวัดความต้านทานไฟฟ้าของชั้นดิน ความเข้มของสนามแม่เหล็กบริเวณนั้น ฯลฯ แล้วนำมาแปลความหมายข้อมูลร่วมกันว่ามีศักยภาพเหมาะสมหรือไม่ซึ่งต้องใช้เวลาและวิทยาการหลายด้านร่วมกัน ศึกษา แล้วกำหนดพื้นที่เพื่อเจาะสำรวจหาปริมาณทองคำ รวมทั้งประเมินความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะเป็นเหมืองแร่ทองคำ”
การนำทองมาใช้ ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะแหล่งแร่ทองคำที่พบในแบบปฐมภูมิซึ่งนอกจากการสำรวจที่ต้องใช้ระยะเวลา ในขั้นตอนการนำทองคำออกมาจากแหล่งทองในธรรมชาติยังต้องใช้ทุนและเทคโนโลยีสูง รวมทั้งผ่านกระบวนการผลิตอีกหลายขั้นตอน
ขณะที่ทองคำพบได้ทั้งในรูปแบบที่มองเห็นได้ด้วย ตาเปล่าและที่ใช้ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีเข้าช่วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการขุดร่อนทองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ในการร่อนทองที่พบเห็นกันตามแหล่งน้ำหากแยกนำทองออกได้ก็จะไม่เกิดปัญหา แต่ที่หยิบจับไม่ได้แล้วใช้ปรอทจับทองคำออกมาเพื่อนำไปเผาให้ได้ทองจะมีผลต่อสุขภาพ
ในการเผาเพื่อให้ได้ทอง ไอปรอทที่เกิดขึ้นหากสูดดมหายใจเข้าไปจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ในระยะยาวทำให้เจ็บป่วยเป็นมะเร็งปอด อีกทั้งสารปรอทที่นำมาใช้อาจตกค้างอยู่ในลำธารและกระจายไปสู่แหล่งน้ำอื่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรละเลย และต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
จากที่ประเทศไทยมีชื่อเรียกขานว่าสุวรรณภูมิซึ่งมีความหมายถึงแผ่นดินทอง การสำรวจพบแหล่งแร่ทองคำในสถานที่ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ น่ายินดีแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทองคำในประเทศ
การรู้ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าใช้อย่างยั่งยืน สิ่งนี้มีความหมายความสำคัญอย่างยิ่งและด้วยความโดดเด่นในคุณ สมบัติ ปริมาณที่มีอยู่น้อย ความหายากของทองคำ ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำตอบของความล้ำค่า ความต้องการของแร่โลหะที่เรียกกันว่า ทองคำ.