Deprecated: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in /var/www/vhosts/taradthong.com/httpdocs/webboard/Sources/Load.php(225) : runtime-created function on line 3
 ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล โลโก้ google วันนี้
TARADTHONG.COM
มกราคม 10, 2025, 08:35:40 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล โลโก้ google วันนี้  (อ่าน 5438 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: กันยายน 04, 2010, 06:51:21 PM »

ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล โลโก้ google วันนี้


ชะแว่บ...เปิดหน้ากูเกิ้ลมาวันนี้ ต้องพบกับความประหลาดใจ เมื่อเจอภาพลูกอะไรกลม ๆ หมุนอยู่ในหน้าจอ พร้อมกับคำว่า "ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล" เอ...มันคืออะไรกันเอ่ย วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาบอกค่ะ

            บัคกี้บอล ที่ปรากฎในโลโก้ google วันนี้ (4 กันยายน) ก็คือ บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน (Buckminsterfullerene) แต่เราเรียกสั้น ๆ ว่า บัคกี้บอล (Bucky Ball) ซึ่งเป็นสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม เชื่อมต่อกันเป็นรูปทรงกลมคล้ายกับลูกฟุตบอล จัดเป็นสารในกลุ่มฟูลเลอรีนส์ (fullerenes, Cn) ซึ่งเป็นอัญรูป (allotrope) แบบที่สามของคาร์บอนต่อจากเพชรและกราไฟต์

            ทั้งนี้ บัคกี้บอล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโมเลกุล ประมาณ 1 นาโนเมตร ประกอบด้วยวงหกเหลี่ยมของคาร์บอน จำนวน 20 วง และวงห้าเหลี่ยม จำนวน 12 วง โดยที่บัคกี้บอลถือว่าเป็นโมเลกุลสารอินทรีย์ที่มีรูปทรงสมมาตรที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบจนถึงปัจจุบัน

            สำหรับการค้นพบบัคกี้บอลนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1985 โดย ศ.ดร. ฮาร์โรลด์ โครโต้  (Harold Kroto) นักฟิสิกส์ด้านอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยซัสเซ็ก (University of Sussex) สหราชอาณาจักร ร่วมกับ ศ.ดร. ริชาร์ด สมอลลีย์ (Richard Smalley) และ ศ.ดร. โรเบิร์ต เคิร์ล (Robert Curl) ณ มหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice university) สหรัฐอเมริกา วางแผนวิจัยเรื่องโครงสร้างของกลุ่มสารประกอบคาร์บอนที่น่าจะพบในบริเวณบรรยากาศรอบ ๆ ดาวยักษ์แดง (Giant Red Star) ดวงหนึ่งที่อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 1 พันล้านปีแสง

            โดยระหว่างการทดลองพวกเขาได้จำลองสภาพบรรยากาศของดาวยักษ์แดงขึ้น โดยใช้แสงเลเซอร์ความร้อนสูงยิงไปยังกราไฟต์ เพื่อให้สารประกอบคาร์บอนรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นไอระเหยขึ้นมาในบรรยากาศที่เป็นก๊าซฮีเลียม หลังจากปล่อยให้ไอระเหยของโมเลกุลคาร์บอนรูปแบบต่าง ๆ เย็นลงและจับตัวกันเป็นโครงสร้างโมเลกุลรูปแบบต่าง ๆ แต่เมื่อโครงสร้างโมเลกุลจับตัวกัน กลับทำให้ทั้ง 3 ประหลาดใจ เพราะพบว่า โครงสร้างโมเลกุลคาร์บอนที่พบเกือบทั้งหมด มีรูปร่างเป็นทรงกลมเหมือนลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยคาร์บอน 60 อะตอม จึงได้เรียกรูปทรงกลมนี้ว่า บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน ซึ่งชื่อนี้ก็ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติต่อ "บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์" (Buckminster Fuller) สถาปนิกและวิศวกรชื่อดังแห่งยุค ค.ศ. 1960 ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคาร และสิ่งก่อสร้างรูปโดมทรงกลมที่มีลักษณะคล้ายกับลูกฟุตบอลขนาดใหญ่อันเลื่องชื่อหลายแห่งนั่นเอง



ภาพการ์ตูนล้อเลียน  บักมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ บนนิตยสารไทมส์

            เมื่อมีการค้นพบ "บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน" เกิดขึ้นมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษาต่อ และพบว่า "บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน" หรือ "บัคกี้บอล" มีความเสถียรสูงมาก และมีคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีที่แปลกประหลาดหลายประการ ซึ่งการค้นพบ "บัคมินสเตอร์ฟูลเลอรีน" ในครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ท่าน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ.1996 ในเวลาต่อมา


บัคกี้บอล

            และสำหรับ "บัคกี้บอล" นั้น นักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้วิจัย ค้นคว้า ทดลองต่าง ๆ นานา จนพบว่า จริง ๆ แล้ว "บัคกี้บอล" มีประโยชน์ในหลายด้านเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะ "บัคกี้บอล" มีคุณสมบัติเป็นสารกึ่งตัวนำ นอกจากนี้ยังมีการใช้ "บัคกี้บอล" เป็นส่วนประกอบหลักในการพัฒนาเซลล์สุริยะแบบไดแอด และยังใช้เป็นตัวบรรจุอะตอมโลหะและโมเลกุลของก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น ไฮโดรเจน เป็นต้น

            แต่คุณสมบัติของ "บัคกี้บอล" ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจมากเป็นพิเศษก็คือ สรรพคุณทางด้านเภสัชกรรม เนื่องจากมีการค้นพบว่า "บัคกี้บอล" น่าจะสามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ โรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะ ยายับยั้งการตายของเซลล์ ฯลฯ นั่นเพราะ "บัคกี้บอล" มีสรรพคุณในการต่อต้านไวรัส ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ต่อต้านมะเร็งและเนื้องอก ต่อต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ซึ่งหากพัฒนาต่อยอดไปในอนาคต เราก็อาจจะเอาชนะเจ้าโรคร้ายต่าง ๆ ได้

            อย่างไรก็ตาม แม้ "บัคกี้บอล" จะมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็ ดร. อีวา โอเบอร์ดอสเตอร์ (Eva OberdÖrster) กลับได้ตรวจสอบพบความเป็นพิษของ "บัคกี้บอล" เช่นกัน โดยระบุว่า "บัคกี้บอล" สามารถชักนำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายเยื่อหุ้มเซลล์สมองได้ โดยผลวิจัยนี้ ดร.อีวา ได้ทดลองกับปลา และยังพบว่า มันเป็นพิษต่อสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ ด้วย ซึ่งถ้าหาก "บัคกี้บอล" เข้าไปสะสมในตัวของสัตว์น้ำเล็ก ๆ ที่มนุษย์รับประทาน ก็มีความเป็นไปได้ที่ "บัคกี้บอล" จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการค้นคว้าตรวจสอบต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตมากที่สุด

            และนี่ก็คือเรื่องราวของ "บัคกี้บอล" ยามหัศจรรย์ของยุคนาโน ซึ่งวันนี้ก็เป็นวัน "ครบรอบ 25 ปีของบัคกี้บอล" พอดี ก็หวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ "บัคกี้บอล" จะกลายเป็น "ยาวิเศษ" อย่างแท้จริง ที่จะมาช่วยรักษาชีวิตของมวลมนุษย์ได้อีกจำนวนมาก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!