Deprecated: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in /var/www/vhosts/taradthong.com/httpdocs/webboard/Sources/Load.php(225) : runtime-created function on line 3
 ราคาทองคำโลกยังอาจปรับตัวสูงขึ้น...ท่ามกลางวิกฤติหนี้ยูโรโซน
TARADTHONG.COM
ธันวาคม 22, 2024, 10:11:19 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ราคาทองคำโลกยังอาจปรับตัวสูงขึ้น...ท่ามกลางวิกฤติหนี้ยูโรโซน  (อ่าน 6637 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
loveyou
Administrator
Full Member
*****

คะแนนความนิยม: 29
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 234



ดูรายละเอียด
« เมื่อ: มิถุนายน 02, 2010, 05:02:20 PM »


ราคาทองคำโลกยังอาจปรับตัวสูงขึ้น...ท่ามกลางวิกฤติหนี้ยูโรโซน

วันอังคารที่ 01 มิถุนายน 2010 เวลา 18:23 น. ณัฐญา เนตรหิน ข่าวรายวัน - ข่าวในประเทศ   

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ราคาทองคำโลกยังอาจปรับตัวสูงขึ้น...ท่ามกลางวิกฤติหนี้ยูโรโซน" โดยระบุว่า  ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้นโดยสามารถไต่ทะลุระดับ 1,200 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าราคาทองในตลาดโลกจะมีการปรับฐานในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2553 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 1,100 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ ก็ตาม   ทั้งนี้ นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อออนซ์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2552 ซึ่งในแง่ของผลตอบแทนของทองคำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น พันธบัตร และน้ำมัน ฯลฯ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตต่อประเด็นการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา และมุมมองแนวโน้มราคาทองคำในระยะที่เหลือของปีนี้ สรุปได้ดังนี้
 
  ข้อสังเกตต่อประเด็นการเคลื่อนไหวของราคาและการลงทุนในทองคำในช่วงที่ผ่านมา
•ราคาทองคำถูกกำหนดจาก “ความต้องการลงทุน” มากกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์-อุปทานพื้นฐานต่อทองคำจริง (Physical Demand) ราคาทองคำในปัจจุบันนั้นได้รับอิทธิพลจากทั้ง อุปสงค์-อุปทานต่อทองคำที่แท้จริง และอุปสงค์-อุปทานเพื่อการลงทุน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่าความสนใจที่เพิ่มขึ้นในสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงทองจากกองทุนเพื่อการลงทุน (Investment Demand) นั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ราคาทองทะยานขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์

 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนสถาบัน น่าจะมีบทบาทในการกำหนดราคาทองคำในระยะสั้นมากกว่านักลงทุนรายย่อย โดยแม้ว่าเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนที่ลงทุนในทองคำจะมาจากเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อย แต่นโยบายการลงทุนของกองทุน จะเน้นไปที่การบริหารกองทุนเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดังนั้น จังหวะการเข้าซื้อ/ขาย สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
 
อีกทั้งด้วยขนาดเม็ดเงินของกองทุนที่มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อขายในตลาด ทำให้การตัดสินใจซื้อขายของกองทุน มีผลค่อนข้างมากต่อราคาทองคำที่ซื้อขายในตลาด ในขณะที่ นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ มักจะถือครองทองคำ เพื่อสะสมความมั่งคั่งและมองว่าทองคำเป็นทางเลือกในการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

 •สำหรับนักลงทุนสถาบันนั้น ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงินอย่างหนึ่งที่สามารถปกป้องความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะเก็งกำไรได้ ทั้งนี้ เนื่องจากราคาทองคำนั้น มีความสัมพันธ์ หรือเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ เช่น หุ้น และเงินสกุลดอลลาร์ฯ ฯลฯ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 •วิกฤตการคลังในยูโรโซน...เป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่กระต้นพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน  โดยหลังจากวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯ และวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2552 ซึ่งตามมาด้วยการที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเริ่มหลุดจากภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีเดียวกันนั้น  ราคาทองคำโลกก็ได้รับแรงหนุนที่ชัดเจนอีกครั้งในช่วงปลายปี 2552 จากความวิตกกังวลต่อปัญหาวิกฤตการคลังของบางประเทศในยูโรโซน โดยเฉพาะกรีซ ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความกังวลต่อปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2553 และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี  ซึ่งล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้ราคาทองคำโลกทะยานขึ้นทะลุระดับ 1,200 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 นี้   

 •ปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทานไม่ได้มีบทบาทมากนักในการกำหนดราคาทองคำ ปัจจัยพื้นฐานในความต้องการทองคำจริง (Physical Demand) มาจากความต้องการอัญมณีเครื่องประดับ และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลต่อราคาทองคำในปัจจุบันน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างอุปสงค์ต่อทองคำได้เปลี่ยนแปลงไป สัดส่วนความต้องการทองคำเพื่อใช้ผลิตอัญมณีเครื่องประดับมีแนวโน้มลดลง ความต้องการทองคำสำหรับอุตสาหกรรมค่อนข้างคงที่ แต่ความต้องการลงทุนทองคำเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

   มองไปข้างหน้า...ราคาทองคำโลก ยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ แต่การเคลื่อนไหวอาจผันผวนสูงขึ้น
  ความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบันในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงน่าจะอยู่ในระดับสูง  โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ราคาทองคำยังน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง หรือมีโอกาสขยับขึ้นได้อีก คือ ความต้องการลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงของนักลงทุนสถาบันที่คงจะยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางความซับซ้อนของปัญหาวิกฤตการคลังในยูโรโซน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน) ที่ยังยากจะเยียวยาในอนาคตอันใกล้

 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มาตรการช่วยเหลือกรีซไม่ได้จัดการกับปัญหาการคลังที่สำคัญ โดยสหภาพยุโรปยังไม่มีหน่วยงานควบคุมการใช้จ่ายและการจัดเก็บภาษี อีกทั้งแผนที่วางไว้อาจนำไปปฏิบัติได้ยาก อาทิ กรีซต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 4 ปีข้างหน้ารวมกันคิดเป็นขนาดสูงถึง 11% ของ GDP

นอกจากนี้ จากการประท้วงและการหยุดงานของประชาชน นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปทางการคลังแล้ว ก็ยังอาจทำให้ GDP ออกมาแย่กว่าที่คิด ขณะที่ IMF มองว่า GDP ของกรีซจะหดตัว 4% ในปีนี้และอีก 2.6% ในปีหน้า โดยขนาดหนี้สินที่สูงมาก ประกอบกับความเสี่ยงที่การเติบโตเศรษฐกิจและฐานะการคลังอาจจะออกมาแย่กว่าที่คาด อาจนำมาสู่โอกาสการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มเติม

ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ในอนาคต ซึ่งอาจจะกระทบต่อธนาคารเจ้าหนี้ต่าง ๆ ในยุโรป อันมีสภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้วได้ (โดยเป็นที่คาดหมายว่า ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม PIIGS อาจเผชิญสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับกรีซ แม้ว่าอาจไม่เลวร้ายเท่าก็ตาม ขณะที่ สเปนเพิ่งถูกปรับลดอันดับเครดิตลงโดยฟิทต์ เรตติ้ง จากระดับ AAA เป็น AA+ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2553)   อนึ่ง ท่ามกลางความเป็นไปได้ข้างต้นดังกล่าว ความต้องการลงทุนในทองคำเพื่อประกันความเสี่ยงของนักลงทุนสถาบันก็น่าจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ ค่าเงินยูโรและตลาดหุ้นอาจยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า

  การขายทองคำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อาจมีอิทธิพลต่อราคาทองคำ บ้าง แต่คาดว่าธนาคารกลางชาติต่างๆ อาจยังมีความต้องการถือครองทองคำเพื่อทดแทนเงินยูโรที่อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลง  ในปีนี้ IMF มีแนวโน้มที่จะขายทองคำ (Quota) ออกสู่ตลาดจำนวน 191.3 ตัน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาทองคำในตลาดในช่วงที่มีการทำสัญญาซื้อขาย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่า การถือครองทองคำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง โดยเฉพาะธนาคารกลางชาติเอเชียที่มีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ยังน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 เนื่องจากแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินสกุลหลักโดยเฉพาะเงินยูโร ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จึงอาจจะมีการลดการถือครองเงินสกุลหลักดังกล่าวลง ขณะที่ยังคงให้น้ำหนักกับการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนที่ปริมาณทุนสำรองในรูปทองคำ (Gold reserves) ของธนาคารกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 780 ตัน (25.096 ล้านออนซ์) คิดเป็นการเพิ่ม 2.63% โดยมาจากการซื้อทองคำเพิ่มของประเทศจีน และอินเดีย

 ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 454 ตัน (คิดเป็นการเพิ่ม 75.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน : YoY) และอินเดียมีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น 200 ตัน (คิดเป็นการเพิ่ม  55.90% เมื่อเทียบกับปีก่อน : YoY ) โดยข้อมูลล่าสุด ณ มี.ค. 2553 ประเทศจีนและประเทศอินเดียถือครองทองคำอยู่ที่ 1054.1 ตันและ 557.7 ตันคิดเป็น 1.6% และ 6.9% ของปริมาณเงินทุนสำรองทั้งหมดตามลำดับ (ประเทศไทยมีการถือครองทองคำ 84 ตันคิดเป็น 2.0% ของปริมาณเงินทุนสำรองทั้งหมด) ซึ่งยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าหากเทียบกับปริมาณทุนสำรองในรูปทองคำทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 10% ของปริมาณทุนสำรองทั้งหมด นั่นหมายความว่ายังมีโอกาสที่ประเทศจีน และอินเดียอาจมีการถืครองทองคำเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

   อุปทานทองคำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขอบเขตที่จำกัด...คงช่วยหนุนราคาทองคำในระยะยาว ใน ระยะยาวแล้ว ราคาทองคำยังคงน่าจะปรับตัวขึ้นได้อีกเนื่องจากปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองแร่ทั่วโลกมีจำกัด  โดยในปัจจุบัน อายุที่เหลือของเหมืองแร่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 25-30 ปี อีกทั้ง จากการสำรวจทองคำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีต้นทุนในการสำรวจที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการปรับปรุงความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดกันว่า กว่าเหมืองต่างๆ จะสำรวจแหล่งทองคำและผลิตจนสามารถทำให้อุปทานเพิ่มขึ้นได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

โดยสรุปแล้ว จากปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบันเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อวิกฤตหนี้ของยูโรโซนที่ยากจะยุติลงในอนาคตอันใกล้  ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าราคาทองคำในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกในระยะที่เหลือของปี

 อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนสถาบันดังกล่าว เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามเหตุการณ์ นั่นหมายความว่า หากสถานการณ์แวดล้อมของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ อาทิ ปัญหาวิกฤติหนี้ของยุโรปคลายตัวลงเร็วกว่า/ดีกว่าที่คาด หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวอย่างชัดเจนและแข็งแกร่งเกินคาด จนนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) แล้ว  ความต้องการลงทุนในทองคำของนักลงทุนสถาบันก็อาจปรับตัวลดลง นำมาสู่แรงเทขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าได้

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า แนวโน้มการปรับขึ้นของราคาทองคำโลกในระยะจากนี้ไป คงจะเผชิญกับโอกาสการปรับฐาน และความผันผวนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้การทำกำไรระยะสั้นของนักลงทุนสถาบัน รวมไปถึงนักลงทุนรายย่อย อาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการจับจังหวะการลงทุนเป็นสำคัญ  ขณะที่ ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นไปมากแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำในระยะที่เหลือของปี 2553 อาจอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับผลตอบแทนกว่า 10% ที่ทำได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ รวมถึงกว่า 20% ในปี 2550 และปี 2552
บันทึกการเข้า

รักนะ...จุ๊บ จุ๊บ
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!