Deprecated: preg_replace(): The /e modifier is deprecated, use preg_replace_callback instead in /var/www/vhosts/taradthong.com/httpdocs/webboard/Sources/Load.php(225) : runtime-created function on line 3
 ถก MOU 2543 เขาพระวิหาร ไทยได้เปรียบ-เสียเปรียบ?
TARADTHONG.COM
มกราคม 11, 2025, 08:54:02 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ถก MOU 2543 เขาพระวิหาร ไทยได้เปรียบ-เสียเปรียบ?  (อ่าน 9414 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: สิงหาคม 03, 2010, 05:39:50 PM »

ถก MOU 2543 เขาพระวิหาร ไทยได้เปรียบ-เสียเปรียบ?
 กลับมาเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในขณะนี้อีกครั้ง สำหรับกรณีที่กัมพูชายื่นเสนอต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยความพยายามล่าสุดทางกัมพูชาได้ยื่นเสนอแผนพัฒนาจัดการพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหารไปยังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิล ก่อนที่ทางคณะกรรมการมรดกโลกจะมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารไปพิจารณาในการประชุมปี 54 ที่ประเทศบาร์เรน

          อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องปักปันพื้นที่เขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีการยกเรื่อง "บันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MoU)  ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก" ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา วันที่ 14 มิถุนายน 2543 หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า  MOU ปี 43 ซึ่งลงนามไว้ในรัฐบาลสมัยของนายชวน หลีกภัย โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ลงนาม ขึ้นมาเป็นประเด็น

          โดยทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เรียกร้องให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ยกเลิก MOU ปี 43 โดยมองว่า ใน MOU ปี 43 ที่ไทยลงนามยอมรับนั้น กัมพูชาได้อ้างอิงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตารางกิโลเมตรเท่ากับว่า ไทยยอมรับแผนที่ของฝรั่งเศสไปโดยปริยาย (ฝ่ายไทยใช้แผนที่ 1:50,000 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งจะส่งผลต่อการปักปันเขตแดนพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร และทำให้ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ 1.5 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้กัมพูชาขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย

          ขณะที่ทางนายกฯ อภิสิทธิ์ ออกมายืนยันว่า การที่ไม่ยกเลิก MOU ปี 43 น่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะ MOU ปี 43 เป็นสัญญาที่บ่งชี้ว่า พื้นที่บริเวณชายแดนส่วนนี้ยังมีปัญหากันอยู่ ยังไม่สามารถอ้างสิทธิ์ครอบครองได้ ดังนั้น จึงทำให้กัมพูชาที่จะเสนอแผนจัดการพื้นที่โดยรอบเขาพระวิหารมีปัญหามาก เพราะมีสัญญา MOU ปี 43 ค้ำไว้อยู่ ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า การลงนาม MOU ปี 43 ไม่ได้หมายความว่า ไทยยอมรับแผนที่ 1:200,000 ของกัมพูชา เพราะไทยยึดหลักสันปันน้ำในการแบ่งเขตมาโดยตลอด ตามที่ระบุไว้ใน MOU ปี 43 ข้อ 1 (ค) ที่ระบุให้มีการปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.1904 ซึ่งก็คือการยึดหลักสันปันน้ำ เป็นข้อตกลงสำคัญ

          สอดคล้องกับ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวถึงเรื่องแผนที่ 1:200,000 ว่า ใน MOU ปี 43 ไม่ได้ระบุไว้ แต่ข้อความนี้มาระบุในการจัดทำแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจเขตแดนร่วมเมื่อปี 2546 หรือ TOR 2546 ซึ่งข้อความเกือบจะทั้งหมดของ TOR 2546 แทบจะคัดลอกมาจาก MOU ปี 43 ต่างกันตรงที่มีการเพิ่มข้อความ 1:200,000 เข้าไป ซึ่งยืนยันได้ว่า การอ้างแผนที่ 1:200,000 ไม่ใช่มาจาก MOU ปี 43 แต่เป็น TOR 2546 ที่จัดทำขึ้นในรัฐบาลอื่น

          อย่างไรก็ตามได้มีผู้วิเคราะห์กันว่า  แม้ใน MOU ปี 43 จะไม่ได้ระบุว่าแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตารางกิโลเมตร แต่ในความเป็นจริง MOU ปี 43 นั้น ได้กำหนดกรอบการสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบก โดยใช้หลักฐาน 3 ส่วน คือ

           1. อนุสัญญา ปี ค.ศ.1904

           2. สนธิสัญญาปี ค.ศ.1907

           3. แผนที่ที่จัดขึ้นตามผลงานของการปักปันเขตแดน 

          ที่สำคัญในบันทึกข้อความของสำนักเลขาธิการนายกฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2543 ที่เสนอเรื่องให้นายกฯ นำข้อเสนอการทำ MOU ปี 43 ให้ ครม.รับทราบ ได้สรุปความเกี่ยวกับแผนที่ในข้อ 3 ไว้ว่า "แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน" แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยยอมรับความจริงของแผนที่ที่ไม่ฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับ จนส่งผลให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนตามมานั่นเอง เพราะไทยใช้แผนที่อัตราส่วน 1:50,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งละเอียดกว่าทางกัมพูชา และหากยึดแผนที่ตามอัตราส่วน 1 : 200,000 ที่ขีดไม่เรียบร้อยอาจจะไม่ตรงกับเส้นสันปันน้ำ ซึ่งหากผิดเพียง 1-2 มิลลิเมตร จะผิดเพี้ยนไปจากเป็นจริงประมาณ 200-400 เมตรเลยทีเดียว จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน และถูกมองว่าไทยอาจจะเสียเปรียบกัมพูชา

          ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ได้ให้ความคิดเห็นสอดคล้องกับรัฐบาลด้วย คือไม่ควรยกเลิก MOU ปี 43 เนื่องจาก ใน MOU ปี 43 มีการระบุว่า ให้ตั้งคณะกรรมธิการเขตแดนร่วม  (Joint Boundary Commission: JBC) เพื่อรับผิดชอบการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกันด้วย นี่จึงเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พื้นที่บริเวณนี้ยังปักปันไม่เสร็จ ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ หรือกระทำการใด ๆ ได้ระหว่างที่ยังเจรจาไม่บรรลุผล

          ทั้งนี้ในการเซ็นสัญญา MOU ปี 43 ไม่ได้มีการยอมรับแผนที่ 1:200,000  แต่เป็นการให้รื้อแก้แผนที่อัตราส่วนนี้ใหม่ เพราะแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 จัดทำขึ้นมาภายหลัง และมีเพียง พ.อ.แบร์นาร์ด ชาวฝรั่งเศส และผู้ช่วยซึ่งเป็นทหารกัมพูชาเป็นผู้จัดทำ โดยฝ่ายไทยไม่ได้มีส่วนร่วมในการสำรวจด้วย จึงเป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นมาอย่างไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาระหว่างกรุงสยามและฝรั่งเศส 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904

          นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์กันว่า การที่ไทยยึดหลักปักปันเขตแดนตามหลักสากลที่ใช้ "สันปันน้ำ" ย่อมหมายความว่า พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย และอาจรวมถึงปราสาทพระวิหารด้วยซ้ำ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดออกมายื่นโต้แย้งคำพิพากษาของศาลโลก ตามสิทธิสงวนไว้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505

          ความเพิกเฉยและความไม่กล้าหาญในการแสดงสิทธิ์ของรัฐบาลหลาย ๆ ชุด ทำให้เกิดความคลุมเครือ และความไม่ชัดเจนเรื่องพื้นที่บริเวณโดยรอบเขาพระวิหาร  จนกลายมาเป็นประเด็นให้คนถกเถียงกัน ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน MOU ฉบับนี้ เพราะไม่ชัดเจนว่า "ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ"

          ขณะที่อีกประเด็นคือ การที่นายกฯ อภิสิทธิ์ ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า จุดที่ไทยเสียเปรียบกัมพูชากรณีขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ซึ่งนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ออกแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2551 สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ถือเป็นการเปิดประตูให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้เพียงฝ่ายเดียว

          โดยสำหรับแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2551 นี้ เนื้อหาได้ระบุถึงการที่ประเทศไทยสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหาร เข้าไว้ในบัญชีมรดกโลก โดยครอบคลุมพื้นที่กันชนทางด้านตะวันออกและด้านใต้ของปราสาท แต่ไม่รวมถึงด้านเหนือและด้านตะวันตก โดยมีผู้แทนจากยูเนสโกลงนามรับรอง



  เขาพระวิหาร

          อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีผู้ออกมาวิเคราะห์ถึงแถลงการณ์ฉบับนี้ว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่า ไทยสละสิทธิ์ในการทวงคืนปราสาทพระวิหาร ซึ่งสามารถยื่นคำร้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลโลกได้ และยังทำให้ไทยสูญเสียดินแดนพื้นที่กันชนทางด้านตะวันออกและด้านใต้ของตัวปราสาทไปด้วย ซึ่งแต่เดิมนั้นคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี พ.ศ.2505 ไม่ได้ระบุรวมถึงพื้นที่ส่วนนี้ แต่การที่ไทยยอมรับในแถลงการณ์ฉบับนี้ เท่ากับว่าไทยยอมรับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ที่ศาลไม่ได้ตัดสิน ให้อยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาไปโดยปริยาย

          เมื่อเกิดประเด็นขัดแย้งเช่นนี้ จึงทำให้นายนพดล ปัทมะ ออกมาปฏิเสธว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่า ไทยสละสิทธิ์ในการทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร และการลงนามครั้งนี้ ทำให้พื้นที่ทับซ้อน 4.6 กิโลเมตรไม่ถูกกัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนพร้อมตัวปราสาทเขาพระวิหารด้วย

          แต่ทว่า ต่อมาศาลปกครองได้พิพากษาให้แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากแถลงการณ์ฉบับนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนมีการตกลง เพราะมีผลต่อความมั่นคงและอาณาเขตของประเทศ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่หากทำอะไรที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ และส่งผลกระทบเขตแดนหรืออธิปไตย จะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาก่อน ดังนั้น ปัจจุบันแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับนี้ จึงไม่มีสภาพบังคับใช้แล้ว และแม้จะมีการทำหนังสือแจ้งไปยังทางการกัมพูชาให้สิ้นสุดข้อสัญญาแล้ว แต่ทางการกัมพูชาตอบกลับมาว่า ไม่ยอมรับแถลงการณ์โมฆะของไทย เพราะได้นำปราสาทเขาพระวิหารเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้วเช่นกัน 

          นั่นจึงทำให้เกิดสถานการณ์ขัดแย้งขึ้นต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลไทยเองได้เดินหน้าคัดค้านแผนการจัดการพื้นที่โดยรอบเขาพระวิหารของกัมพูชาอย่างเต็มที่ เนื่องจากหากคณะกรรมการมรดกโลกจะเข้ามากำหนดแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ในเขาพระวิหารแล้ว แน่นอนว่าคงต้องมาจัดการดูแลบริเวณรอบ ๆ ซึ่งรวมไปถึงทางขึ้นเขาพระวิหารที่สะดวกที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษของประเทศไทยด้วย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องพยายามคัดค้านการขึ้นทะเบียนให้ถึงที่สุด เพื่อไม่ให้สูญเสียอธิปไตย

          เช่นนั้นแล้วรัฐบาลไทยจะต้องเร่งทำความจริงให้ปรากฎ โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่มีหลายคนบอกว่า จุดนี้ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนแต่เป็นพื้นที่ของไทยทั้งหมด แต่ทว่าทางรัฐบาลกัมพูชากลับเกณฑ์ประชาชนเข้าไปปักหลักแสดงสิทธิ์ครอบครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากปล่อยให้เนิ่นนานไปจะยิ่งเพิ่มปมปัญหาให้หนักขึ้น เพราะการขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

          คงต้องเกาะติดสถานการณ์ต่อไปว่า คดีเขาพระวิหารจะจบลงอย่างไร เพราะหลายฝ่ายก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป และ ณ วันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถจะให้คำตอบที่กระจ่างได้ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่เราในฐานะคนไทย คงต้องลุ้นให้รัฐบาลปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ได้มากที่สุด
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!