โรคแพ้ตึก ระบาด อาคารกักสารพิษ!
โรคแพ้ตึก ระบาด อาคารกักสารพิษ! (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เผยคนในเมืองใช้ชีวิตอยู่ในห้องปรับอากาศเกือบทั้งวัน มีแนวโน้มป่วยเป็น "โรคแพ้ตึก" มากขึ้น พบกรณีแม่บ้านเป็นมะเร็งปอดเสียชีวิต ระบุผลศึกษามลพิษอากาศในอาคาร พบสารสารระเหยอันตรายเกินค่ามาตรฐานสากล สาเหตุใช้เครื่องถ่ายเอกสารในบริเวณอากาศไม่ถ่ายเท โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าถุงลมในปอด ร่างกายกำจัดไม่ได้
ผศ.ดร.สิริ ลักษณ์ เจียรากร นักวิชาการศูนย์วิจัยมลพิษอากาศในอาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับ ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษามลพิษอากาศในอาคาร ซึ่งเป็นงานวิจัยล่าสุดประจำปี 2554 พบว่า จากการเก็บตัวอย่างอากาศภายในอาคารที่ติดเครื่องปรับอากาศมีมลพิษที่เป็น อันตรายไม่น้อยกว่ามลพิษภายนอกอาคาร โดยเฉพาะคนในเมืองใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน จากการใช้รถปรับอากาศ ห้องทำงาน ห้องนอน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งคุณภาพอากาศในอาคารเป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่าเป็นมลพิษทางอากาศอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพโดยไม่รู้ตัว หรือที่เรียกกันว่าโรคแพ้ตึก ซึ่งคนในเมืองมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น
ผศ.ดร.สิริลักษณ์ เผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ตรวจวัดมลพิษที่เกิดจากการใช้เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์ภายในอาคารสำนักงาน พบสารระเหย ได้แก่ เบนซีนโทลูอีน และโอโซน โดยตรวจพบปริมาณที่มีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการแสบจมูก ระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนัง เนื่องจากขณะที่ถ่ายเอกสารหรือสั่งพิมพ์นั้น สารที่เป็นองค์ประกอบในผงหมึกเมื่อถูกความร้อนจะระเหยเป็นไอ สารระเหยในผงหมึกดังกล่าวนี้จัดเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 2.5 ไมโคร ฟุ้งกระจายออกมาในขณะพิมพ์ และเข้าสู่ถุงลมในปอดได้ง่าย เพราะเป็นฝุ่นระดับอนุภาคที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการจามเหมือนฝุ่นขนาดใหญ่ ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ เป็นหวัดไม่หาย ไซนัสเรื้อรัง และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานได้ไม่ดีในที่สุด
"จากงานวิจัยพบว่า เครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องพิมพ์แต่ละชนิดมีการปลดปล่อยสารพิษเหล่านี้แตก ต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หากบริเวณที่ตั้งเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ในจุดอับ ไม่มีการถ่ายเทอากาศอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดมลพิษในอากาศได้มากกว่าบริเวณที่มีการระบายอากาศ" นักวิชาการศูนย์วิจัยมลพิษอากาศในอาคาร ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผย
นอกจากนี้ กลิ่นจากเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เครื่องใช้สำนักงานใหม่ รวมทั้งรถใหม่ ยังพบการระเหยของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของวัสดุที่ใช้ในการสร้าง และตกแต่งอาคาร เช่น เฟอร์นิเจอร์ พรมปูพื้น วัสดุบุผนังและพื้น สีต่างๆ อาจปล่อยสารพิษ เช่น สารฟอร์มัลดีไฮด์ และสารเบนซีนในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดอาการแสบตาและจมูก โดยตรวจพบสารพิษทั้งสองชนิดนี้มีค่าเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะสารฟอร์มัลดีไฮด์ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์ ให้อยู่ในระดับปลอดภัย ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ออกกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศในอาคาร ซึ่งกระตุ้นให้ทั้งสถาปนิกผู้ออกแบบ และรับเหมาก่อสร้างอาคารตระหนักถึงการออกแบบ และติดตั้งเครื่องปรับอากาศและระบบระบายอากาศในอาคารที่เหมาะสม
"ที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการ พบว่า นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีอาการป่วยเป็นโรคแพ้ตึกกันมากขึ้น เพราะมีการสร้างตึกและตกแต่งห้องใหม่เพิ่มเติม อีกทั้งยังมีกรณีตัวอย่างจากคนใกล้ตัว เป็นแม่บ้านอายุ 55 ปี ไม่ทำอาหารที่บ้าน ไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ แต่ชอบเดินห้างสรรพสินค้า บ้านติดแอร์ทั้งหลัง ที่สำคัญคือ ไม่เคยเปิดหน้าต่างห้องนอนเลย เพราะไม่อยากให้ฝุ่นเข้ามาในห้อง แต่กลับเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิตในที่สุด แพทย์ลงความเห็นว่าติดเชื้อในปอดจนนำไปสู่การเป็นมะเร็ง ซึ่งพิจารณาจากลักษณะการใช้ชีวิตจะเห็นว่ามลพิษอากาศในอาคารเป็นหนึ่งใน สาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปอด" ผศ.ดร.สิริลักษณ์กล่าว และว่า การเกิดของมลพิษอากาศในอาคารยังรวมไปถึงกิจกรรมและการใช้วัสดุต่างๆ ภายในอาคาร เช่น การทำกับข้าว การสูบบุหรี่ การใช้ยาฆ่าแมลงภายในอาคาร เป็นต้น
ข้อแนะนำสำหรับการแก้ปัญหามลพิษอากาศในอาคาร ควรเพิ่มการระบายอากาศภายในอาคาร ควรมีการเปิดหน้าต่างให้อากาศภายในห้องมีการถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เกิดการเจือจางของมลพิษ หรืออาจติดตั้งพัดลมดูดอากาศภายในห้อง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาการสะสมของมลพิษภายในห้อง สำหรับตัวเราก็ไม่ควรสร้างแหล่งมลพิษในอาคาร เช่น ไม่สูบบหรี่ในอาคาร ไม่ควรปูพรม เพราะจะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค หรือภายในห้องถ้ามีน้ำรั่วซึมควรรีบปรับปรุงเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งของเชื้อรา