หวาน ๆ เค็ม ๆ แบบคนเมืองเพชร
หวาน ๆ เค็ม ๆ แบบคนเมืองเพชร (Lisa)
เขาว่าคนเมืองเพชรเป็นคนดุ คนตรง แต่ฉาบไว้ด้วยรสชาติหวาน ๆ เค็ม ๆ นั่นเพราะความต่างของอาชีพทำกิน ที่ขึ้นอยู่กับความหลากหลายทางธรรมชาติในท้องถิ่น...ยิ่งรู้จักคนเพชรก็เหมือนเราได้รู้จักเมืองเพชรมากยิ่งขึ้น
Lisa พาเที่ยวจังหวัดเพชรบุรีคราวนี้ อาจให้อรรถรสความสนุกต่างไปจากที่คุณผู้อ่านเคยไปอยู่บ้าง อย่างการเที่ยววังเข้าวัดหรือลองลิ้มชิมขนมหวานพื้นเมืองขึ้นชื่อ เพราะเราจะพาคุณๆ ไปรู้จักคนท้องถิ่นเมืองเพชร พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมในแหล่งทำกิน ที่กำลังถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างรูปแบบ ไม่ต่างอะไรกับเพชรมีหลายเหลี่ยมมุมให้ชื่นชม...สมชื่อ "เพชรบุรี"
ตกหมึก เก็บหอย ลอยทะเล
เรามาที่ ชุมชนหมู่บ้านพะเนิน ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม ซึ่งเป็นที่ตั้ง โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชุมชนนี้มีอาชีพหลักคือทำประมงพื้นบ้าน ขณะที่แม่บ้านและเด็ก ๆ รับจ้างถักอวน บ้างก็ร้อยโมบายล์เปลือกหอย และกลายเป็นกิจกรรมสร้างสีสันในการท่องเที่ยวของที่นี่ นอกเหนือจากกิจกรรมไฮไลต์นำนักท่องเที่ยวไปเก็บหอยและตึกหมึกสาย
โดยก่อนฟ้าสางชาวบ้านจะพานั่งเรือประมงออกทะเล ตามไต๋กงไปดูการจับหมึกสายด้วยไซหอยสังข์ที่วางดักไว้ ไต๋กงเรือเล่าว่า วิธีตกหมึกแบบนี้ได้อิทธิพลมาจากประมงแถบทะเลตะวันออก ก่อนแพร่ขยายมาถึงเมืองเพชรเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา หมึกชนิดนี้คนไทยไม่ได้ค่อยได้กินกันเพราะส่งออกซะหมด ตกแล้วกิโลกรัมละเกือบร้อย ถ้ายังนึกภาพหมึกสายไม่ออก ก็นึกภาพหมึกยักษ์อ็อกโตพุสที่ดูดปากพระเอกหนัง "กวน มึน โฮ" จนบวมเจ่อนั่นแหละ...555
สนุกสนานกับการตกหมึกแล้วก็ตามชาวบ้านไปเก็บหอยแครง หอยเสียบ หอยปากเป็ด ฯ ที่ปลายแหลม ซึ่งทอดยาวไกลในทะเลถึง 2 กิโลเมตร พร้อมชมทัศนียภาพและสัมผัสความเนียนละเอียดของ "ทรายเม็ดแรก" เนื่องจากที่นี่เป็นจุดสุดท้ายของหาดโคลน จากสมุทรสาครและสมุทรสงคราม บรรจบกับจุดเริ่มต้นของหาดทรายแห่งทะเลอ่าวไทยเรื่อยลงไปยังภาคใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของนิเวศสองระบบทำให้มีนกน้ำหลายชนิดหากินในย่านนี้ จนกลายเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอีกแห่งของไทย
เดินดงตาล หอมหวานน้ำตาลสด
ภาพตาลยืนต้นสูงเด่นเป็นแถวทิวสุดปลายตาตลอดสองข้างทาง เป็นสิ่งยืนยันว่าจังหวัดเพชรบุรีมีต้นตาลมากที่สุด เราขึ้นรถรางนำเที่ยวพาลัดเลาะไปยังสวนตาลของ ลุงถนอม ภู่เงิน แห่ง ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด ลุงปลูกตาลมากว่า 20 ปีด้วยความรักและเอาใจใส่ จึงรู้จักเจ้าตาลสารพัดประโยชน์นี้เป็นอย่างดี สวนตาลนี้ตั้งใจให้เป็นมรดกถึงลูกหลาน เพราะต้นตาลมีอายุเป็นร้อยปี ในวันนี้ยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับผู้สนใจพืชเศรษฐกิจชนิดนี้อีกด้วย
ออกจากดงตาลของลุงถนอม มุ่งหน้าไปยังบ้านทำน้ำตาลสด อีกผลผลิตแปรรูปที่ได้จากต้นตาล นาทีถ้าไม่ชิมน้ำตาลหวานหอมจากเตาร้อน ๆ ก็คงบอกโม้กับใคร ๆ ไม่ได้ว่ามาถึงเมืองเพชรจริง ๆ ก่อนกลับเพื่อนร่วมทริปยังหิ้วน้ำตาลปีบที่ทำเสร็จใหม่ กลับบ้านด้วย ก็แหม...แค่โลละ 60 บาท ได้น้ำตาลแท้จากเตาตาลเอาไปทำน้ำกะทิลอดช่อง หรือทำอาหารคาวหวานอะไร ๆ ก็หอมอร่อยทั้งนั้น แล้วจะอดใจไม่ซื้อได้ไงกัน
จากเตาตาลไปบ้านยีโตนด ชื่อก็บอกอยู่ว่าที่นี่มีรายได้เลี้ยงปากท้องจากผลตาล ตั้งแต่รับยีลูกตาลเพื่อเอาเนื้อไปทำขนม ปลอกหัวตาลส่งขายไปทำแกงหัวตาล แกะเม็ดตาลเอาส่วนแจวไปเชื่อม และเปลือกเม็ดที่แข็ง ๆ ก็เผาทำถ่านขายซะเลย พอจบทริปรถรางทัวร์บ้านลาดแหล่งทำตาล เราต่างรู้ซึ้งถึงคุณค่าต้นตาล..."โอ้ ฉันหลงรักตาลเข้าแล้วล่ะ จุ๊บจุ๊บ"
ส่งท้ายทริปนี้เราไปดูการทำหมึกฉาบ ปลาหมึกแห้งที่โรงงานห้องเย็นมงคลการ และโรงงานทำปลาเค็มของเจ๊นุ้ย-ธารทิพย์ ตามด้วยช้อปของทะเลแห้งกลับบ้านอีกคนละหลายถุง แล้วไปดูวิธีนำดอกเกลือจากนาเกลือ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามของกลุ่มสปาเกลือกังหันทอง ก่อนกลับบ้านยังไปล่องเรือชมวิวปากแม่น้ำบางตะบูน ชมฟาร์มเลี้ยงหอยแครงและหอยแมลงภู่ แล้วก็มีโอกาสได้นั่งคิดถึงเรื่องราวหวาน ๆ เค็ม ๆ ที่พบเจอมาตลอดทั้งทริป ก็พบข้อสรุปว่า...คนเมืองเพชรนั้นน่ารักและจริงใจ มากกว่าเป็นคนดุอย่างที่เขาว่ากันเป็นไหน ๆ
ขอขอบคุณผู้นำทริป : งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวทั่วไทย โทรศัพท์ 1672
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนลัดจากคลองโคน จ.สมุทรสงคราม สู่อำเภอบ้านแหลม จ.เพชรบุรี จะสะดวกและรวดเร็ว จากนั้น วิ่งตามถนนกั้นน้ำเค็มสู่แหลมผักเบี้ยได้ รวมระยะทางจากคลองโคนถึงตำบลแหลมผักเบี้ย 45 กม. หรือจะวิ่งตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐม ราชบุรี และไปเพชรบุรีก็ได้
สอบถามข้อมูลท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวฯ สนง.เพชรบุรี โทรศัพท์ 032-471-005-6
อบต.แหลมผักเบี้ย โทรศัพท์ 032-411-029
โฮมสเตย์พรพนาที่ ต.แหลมผักเบี้ย โทรศัพท์ 08-6173-0530 , 08-9254-7295
โรงงานปลาเค็มของนุ้ย-ธารทิพย์ โทรศัพท์ 08-1944-9114
โรงงานทำปลาหมึกแห้งของป้าอำนวย นุชถาวร โทรศัพท์ 08-1586-9996
ลุงถนอม ภู่เงิน โทรศัพท์ 08-1586-9996