เคล็ดลับการสร้างเพื่อนใหม่ และรักษามิตรภาพ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถอาศัยอยู่โดยโดดเดี่ยวได้... คำกล่าวนี้อาจดูเป็นวิชาการไปสักนิด แต่คนเราก็เป็นไปตามนั้นจริง ๆ เราทุกคนต่างต้องการใครสักคนไว้คอยพูดคุย แบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งสุข เศร้า เหงา ทุกข์.... ด้วยเหตุนี้คำว่า "เพื่อน" หรือ "มิตรภาพ" จึงได้เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละคนล้วนมีเพื่อนอยู่มากมาย และมีความสนิทสนมมากน้อยต่างกัน
ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันว่า เพื่อนที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรานั้น แบ่งประเภทความสัมพันธ์ตามความสนิทสนมได้อย่างไรบ้าง
เพื่อนแบบคนรู้จัก : โดยส่วนใหญ่แล้วในชีวิตของเราจะมีเพื่อนประเภทนี้มากที่สุด กล่าวคือเป็นเพื่อนที่เห็นหน้าเห็นตากันเมื่อไปโรงเรียนหรือไปทำงาน อาจไม่ได้สนิทสนมกันมาก แต่ก็ทักทายทุกครั้งที่พบกัน
เพื่อนที่อยู่รอบ ๆ ตัว : เพื่อนกลุ่มนี้คือคนที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วย เช่น ไปเที่ยวด้วยกัน ดูหนัง ทานข้าว ฯลฯ เป็นเพื่อนที่เราสามารถคุยเรื่องต่าง ๆ ได้ทุก ๆ วัน
เพื่อนสนิท หรือเพื่อนแท้ : ซึ่งเพื่อนแบบนี้มักจะมีอยู่ไม่กี่คน เพื่อนแท้คือคนที่คุณสามารถปรึกษาเรื่องราวทุกเรื่องได้อย่างไม่ปิดบัง เปิดเผยตัวตนจริง ๆ ให้เขาเห็นได้โดยไม่เคอะเขิน และไม่จำเป็นว่าต้องเจอกันบ่อย ๆ เพราะระยะทางไม่ใช่อุปสรรคต่อมิตรภาพของเพื่อนแท้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม้ระดับความสัมพันธ์ของเพื่อนจะถูกแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบตามความสนิทสนม แต่ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบไหนก็ต้องเริ่มต้นมาจากก้าวแรกด้วยกันทั้งนั้น คือการเป็นคนแปลกหน้าต่อกันมาก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เริ่มต้นพัฒนาขึ้นไป ด้วยการผูกมิตรหรือการรู้จักกับเพื่อนใหม่ ซึ่งอาจฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับหลาย ๆ คน ที่จะต้องพาตัวเองไปพัวพันใกล้ชิดกับคนที่ยังแปลกหน้ากันอยู่
แต่อย่าได้กลัวไปเลยค่ะ แม้จะรู้สึกประหม่าในตอนแรก แต่ในวันถัด ๆ ไป คุณก็จะคลายความประหม่าตื่นเต้นนี้ลง และพูดคุยกันได้เป็นธรรมชาติมากขึ้นเอง ไม่แน่ว่าเพื่อนใหม่คนนี้อาจจะกลายเป็นเพื่อนสนิทของคุณในวันข้างหน้าก็ได้นะคะ เพราะฉะนั้นจงอย่าได้กลัวที่จะผูกมิตรกับผู้คนใหม่ ๆ เลยค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนคงอยากจะสะกิดคนข้าง ๆ มาชวนคุยทำความรู้จักกัน แต่ว่าถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำแนะนำดี ๆ ในการผูกมิตรกับเพื่อนใหม่และการรักษามิตรภาพให้ยั่งยืนมาฝากกัน
1. ขจัดความเขินอายทิ้งไป
สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนจะผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ คือตัดความเขินอายออกไปแล้วทำตัวให้เป็นธรรมชาติ หลายคนมองว่าการทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ ช่างเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะกังวลว่าจะทำอย่างไรให้อีกฝ่ายประทับใจ หรือจะพูดคุยอย่างไรให้ลื่นไหลดี แต่...ยิ่งกังวลมากก็ยิ่งเกร็ง และยิ่งทำตัวไม่เป็นธรรมชาติ บทสนทนาของคนที่เพิ่งรู้จักกันครั้งแรก จึงมักจะตะกุกตะกักเพราะยังประหม่าเขินอายด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น จึงควรทำใจสู้สลัดความเขินอายทิ้งไป และทำตัวให้เป็นธรรมชาติ ไม่ตั้งกลัวว่าจะทำอะไรเปิ่น ๆ ออกไป หรอกค่ะ เป็นตัวของตัวเองให้เขาเห็นนี่แหละ จริงใจสุด ๆ แล้ว
2. เริ่มทำความรู้จักจากกลุ่มเล็ก ๆ
หากคุณเป็นคนประเภทที่ทำตัวไม่ถูกเมื่ออยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้ากลุ่มใหญ่ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักมาดี ลองค่อย ๆ ปรับนิสัยของตัวเองด้วยการลองทำความรู้จักกับคนกลุ่มเล็ก ๆ ดูก่อน เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมของคุณ โดยคุณอาจกลับไปติดต่อกับเพื่อนสมัยเรียน นัดเขาออกมาทานข้าว หรือโทรไปพูดคุยถามไถ่ความเป็นไป, เข้าชมรมหรือเป็นสมาชิกคลับที่คุณสนใจ เพื่อสร้างเพื่อนใหม่ที่อย่างน้อยก็จูนกันติด เพราะมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน คุณจึงสามารถเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ได้จากจุดนี้ด้วย
หรือลองทำความรู้จักกับเพื่อนของเพื่อน หากคุณสนิทกับเพื่อนคนนั้นแล้ว คุณก็มีโอกาสจะเข้ากันได้กับเพื่อนของเขามากขึ้นด้วย หรือวิธีสุดท้าย เลิกเก็บตัวและออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง หากคุณเป็นคนประเภทที่ชอบเก็บตัว เพื่อนชวนไปไหนก็ไม่ค่อยจะไป เพราะอย่างนี้คุณจึงไม่คุ้นชินกับสถานการณ์ที่ต้องเจอคนใหม่ ๆ นั่นเอง คุณจะมีเพื่อนใหม่ไม่ได้เลยถ้าคุณไม่เลิกเก็บตัวนะคะ
3. รู้จักกับคนกลุ่มใหญ่ขึ้น
หากคุณเริ่มปรับตัวได้ในการผูกมิตรเพื่อนใหม่จากกลุ่มเล็ก ๆ แล้ว คราวนี้การขยับขยายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นคงไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งการพบเจอคนมากมายหลายแบบก็เป็นเรื่องที่น่าสนุกไปอีกแบบ เช่น การออกค่าย, เป็นอาสาสมัครตามโครงการต่าง ๆ, ลงคอร์สเวิร์คชอปเรื่องที่ตัวเองสนใจ...เหล่านี้นอกจากจะเพื่อนใหม่แล้วยังได้ประโยชน์ด้วย หรือจะลองผูกมิตรกับผู้คนจากสังคมออนไลน์ต่าง ๆ แม้จะไม่ได้เห็นหน้า ไม่ได้เจอกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพื่อนกันไม่ได้นี่นา
4. ทำตัวเป็นฝ่ายแรกที่เริ่มสนทนา
ในยามที่คนไม่คุ้นหน้า ต้องมาเจอกันเป็นครั้งแรก ช่างเป็นสถานการณ์ที่น่าอึดอัด หากอีกฝ่ายยังไม่มีทีท่าจะเอื้อนเอ่ยอะไรออกมา อย่ารอช้าที่ตัวคุณเองจะเป็นฝ่ายเอ่ยคำทักทายที่เป็นมิตร พร้อมทั้งแนะนำตัวคุณออกไปก่อน แล้วจึงเว้นช่วงให้ฝ่ายตรงข้ามโต้ตอบกลับมาบ้าง จากนั้นบทสนทนาอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ไหลตามมาเอง เพราะถ้าหากทลายกำแพงชั้นแรกออกได้ ขั้นต่อ ๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วล่ะ
5. เปิดใจ
การจะรู้จักใครสักคน ถ้าเราไม่เปิดใจ ก็ยากที่จะชนะใจและเริ่มต้นความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใด รวมทั้งความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนด้วย อย่ากำหนดขอบเขตว่าต้องการจะรู้จักแต่คนที่มีพื้นเพความสนใจหรือรสนิยมใกล้เคียงกันเท่านั้น บางครั้งคนที่ต่างที่มาต่างความสนใจ รสนิยมต่างกัน ก็กลับเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งนอกจากเปิดใจแล้วก็ยังต้องเชื่อใจกันด้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นคนดี อย่าตั้งอคติกันเพียงในครั้งแรกที่พบ ใคร ๆ ย่อมอยากได้เพื่อนที่จริงใจและเปิดใจ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องจริงใจและเปิดใจในการสร้างเพื่อนใหม่ด้วย
6. เรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนใหม่
มิตรภาพก็คือเรื่องราวระหว่างคนสองคน ทำความรู้จักความเป็นมาและเป็นไปของเพื่อนใหม่คุณดูสักนิด คุณอาจแลกเปลี่ยนทำความรู้จักกันด้วย คำถามอย่าง...เรียนที่ไหน, ทำงานอะไร, สนใจกีฬาหรือเปล่า, เชียร์ทีมไหนเป็นพิเศษ, มีงานอดิเรกอะไร, ชอบดูหนังแนวไหน ฯลฯ คำถามที่จะทำให้คุณเรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนใหม่ได้ มีอีกเยอะแยะเลย ลองใช้คำถามเหล่านี้เป็นแนวทางที่จะทำความรู้จักเพื่อนใหม่ของคุณดูนะคะ
7. สัมพันธ์กันอย่างจริงใจ
หลาย ๆ ครั้งที่เรากังวลเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองว่าจะต้องพูดหรือทำอะไรให้ดูดี อย่างเช่นว่า ควรจะพูดอะไรต่อไป ทำท่าไหนต่อดี แล้วคนอื่นจะคิดอย่างไรกับคุณ ความกังวลเช่นนี้คุณเองก็สามารถมีได้ แต่ควรให้มันเป็นความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการทำงานจะดีกว่า ไม่ควรนำสิ่งเหล่านั้นมากังวลเกี่ยวกับมิตรภาพความสัมพันธ์ คุณควรพูดหรือทำในสิ่งที่คุณอยากทำ ไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องทำ ปฏิบัติต่ออีกฝ่ายอย่างที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเรา แสดงความจริงใจของคุณต่อฝ่ายตรงข้าม เพียงเท่านั้นคุณก็จะดึงดูดให้คนมาปฎิสัมพันธ์กับคุณอย่างจริงใจได้เช่นเดียวกัน ไม่แน่ว่าเพื่อนคนนี้อาจกลายเป็นเพื่อนสนิทของคุณในวันหน้าก็ได้นะ
8. เป็นตัวของตัวเอง
อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือสร้างบุคลิกใหม่เพื่อผูกมิตร เพราะนั่นไม่ใช่ตัวคุณเลย ในครั้งแรกที่รู้จักกันมักเป็นวันที่อีกฝ่ายจดจำคุณในบุคลิกแบบนั้นไว้ฝังใจ และก็จะคิดว่ารู้จักคุณที่เป็นคนแบบนั้น หากคุณปรุงแต่งตัวเองให้ต่างจากที่เคยเป็น นอกจากจะรู้สึกไม่สะดวกใจและทำตัวไม่ถูกในการพบกันครั้งต่อไปแล้ว อาจเกิดปฏิกิริยาหมางเมินจากอีกฝ่าย ในโทษฐานที่คุณไม่จริงใจในการพบกันตั้งแต่ครั้งแรกก็ได้นะคะ
9. ให้ความช่วยเหลือเมื่อเพื่อนต้องการ
มิตรภาพคือความสัมพันธ์ที่สนับสนุน เกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเพื่อนมีปัญหา จงอย่าลังเลที่จะเข้าช่วยเหลือ และให้ช่วยเหลือด้วยความจริงใจ ไม่หวังผลตอบแทน ช่วยด้วยใจที่คุณอยากช่วย ไม่ใช่ด้วยความรู้สึกว่าควรจะช่วย แถมความรู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้จาการช่วยเหลือนั้นก็คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ เพราะคุณไม่สามารถสร้างความรู้สึกนี้ได้กับเรื่องทั่ว ๆ ไปหรอกนะคะ
10. ติดต่อกันอย่าให้ห่างหาย
เมื่อได้เป็นเพื่อนกันแล้ว ก็อย่าให้การติดต่อขาดหายไปนานนัก หมั่นนัดออกมาเจอกันบ้าง อย่างไปทานข้าวเย็น เดินเล่น ดูหนัง หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยกัน ไม่ต้องเจอกันบ่อยนัก อาจเป็นเดือนละครั้ง หรือ 2-3 เดือนครั้งก็ได้ค่ะ มิตรภาพไม่ได้ถูกตัดรอนง่าย ๆ ด้วยความห่างไกล แต่การแสดงความเอาใจใส่ว่าอยากมาพูดคุย หรือเจอหน้าก็ทำให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกดีได้
ส่วนเพื่อน ๆ คู่ไหนกรือกลุ่มไหนที่ไม่สะดวกจะมาเจอกันจริง ๆ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็ทำให้อะไร ๆ ง่ายดายมากขึ้นแล้ว จะยกหูโทรศัพท์คุยกัน หรือว่าจะเจอกันในโลกออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ค่ะ
...เห็นไหมคะ วิธีที่เราจะผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ได้นั้นมีมากมาย เพียงแค่ลืมความประหม่าเขินอายไปชั่วครู่ แล้วจริงใจทำความรู้จักกับอีกฝ่าย เท่านี้ก็จะมีเพื่อนใหม่ได้อีกมากมายเลยล่ะ รวมถึงหากได้สร้างมิตรภาพเชื่อมโยงกันขึ้นแล้ว ก็อย่าลืมเอาใจใส่บำรุงรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ด้วย เพราะมิตรภาพระหว่างเพื่อน ยิ่งนานวันยิ่งล้ำค่านะจ๊ะ