TARADTHONG.COM
ตุลาคม 07, 2024, 12:32:22 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาษาวิบัติ  (อ่าน 4914 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 13, 2010, 08:53:35 AM »

ภาษาวิบัติ


ชี้อย่าห่วงชิมิมาชั่วประเดี๋ยวแต่ติงไว้ก็ได้คิด (ไทยโพสต์)

          ปลัด วธ. ชี้หน่วยราชการจำเป็นต้องดูแลการใช้ภาษาไทยให้เหมาะสม แม้ฝ่ายหนึ่งจะเห็นว่าคร่ำครึ ขณะที่อีกฝ่ายหวั่นภาษาวิบัติ นักวิชาการ ศิลปินแห่งชาติ บอกศัพท์สแลงวัยรุ่นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่นิยมก็หายไปเอง

          "ชิมิ" ศัพท์สแลงที่วัยรุ่นใช้แทนคำว่า "ใช่ไหม" หลังนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ออกมาตำหนิว่าจะทำให้ภาษาไทยวิบัติ และกำชับมิให้นำไปใช้กับชื่อภาพยนตร์หรือละครไทย ส่งผลให้มีการแสดงความเห็นตามมาจากหลายฝ่าย

          นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงทัศนะในที่ประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะเด็กรุ่นใหม่ใช้ศัพท์ไม่ค่อยระมัดระวังในการใช้ภาษาไทย กระทรวงต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เพราะมีชื่อภาพยนตร์บางชื่อและกรรมการบางท่านมองว่าไม่เหมาะสม วธ.จึงต้องหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางให้เหมาะสม ทั้งการใช้ในแง่ของภาษา ความเข้าใจในประเด็นของความเป็นสมัยใหม่ของเด็ก

          "กรรมการบางท่านตั้งข้อสังเกตในชื่อของภาพยนตร์ว่าเป็นการหมิ่นเหม่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นตำแหน่งของคำ เช่น แหกค่ายมฤตยู คือนำตัวเองออกจากความลำบาก การถูกขัง จึงใช้ชื่อว่าแหกค่าย แต่มันมีบางเรื่องใช้คำไม่เหมาะสม เพราะคำบางคำจะใช้ได้กับบริบทหนึ่ง แต่อีกบริบทหนึ่งมันใช้ไม่ได้"

          คำชี้แจงของนายสมชายดังกล่าวมีที่มาจากชื่อภาพยนตร์เรื่อง "หอแต๋วแตกแหกชิมิ" ที่คณะกรรมการภาพยนตร์ไม่พิจารณาให้ใช้ เพราะเห็นว่าไม่เหมาะสม ถึงแม้จะแก้ชื่อมาเป็น "หอแต๋วแตกแหวกชิมิ" ก็ยังเห็นว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน

          นายสมชายกล่าวว่า เรื่องความหมายของภาษาวัยรุ่นที่กำหนดขึ้นมา ต้องหารือกับราชบัณฑิตว่าศัพท์ดังกล่าวเป็นอย่างไร เช่น ตัวหนังสือที่เขียนกันในอินเทอร์เน็ตหรือเอสเอ็มเอสไม่สามารถเขียนยาวได้ จึงใช้อักษร U หรือ R เป็นต้น ซึ่งต้องพยายามดูว่าบริบทของสมัยใหม่ ความหมายของคำเหล่านี้จะใช้อย่างสาธารณะหรือว่าใช้ภายในของแต่ละบุคคลที่จะสื่อความหมายถึงกัน จะไปยุ่งมากไม่ได้ ส่วนเรื่องคำที่มันมีความหมายสองแง่สองง่าม คิดว่าหากเป็นสื่อสาธารณะที่บุคคลทั่วไปเห็นได้ หากว่าหมิ่นเหม่จะต้องมีกรรมการแต่ละชุดดูแล เช่น ชื่อของภาพยนตร์ก็จะมีคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ ดูเนื้อหา ความเหมาะสม อาจจะมีข้อสังเกตในชื่อของภาพยนตร์ ซึ่งเจ้าของบางคนก็ยอมให้ปรับแก้

          "ในแง่ของความเข้าใจของสังคมจากการใช้จะแตกต่างกัน คนที่ห่วงความวิบัติของภาษาก็จะบอกว่าทำไมถึงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ แต่คนที่ใช้ก็มีความรู้สึกว่าคนที่อนุรักษ์เป็นคนล้าสมัย สิ่งเหล่านี้ห้ามกันไม่ได้ แต่ต้องใช้ให้เหมาะสม" นายสมชายกล่าว

          ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะของนักวิชาการด้านภาษาไม่ได้มีความกังวลต่อเรื่องนี้ เนื่องจากคำว่า "ชิมิ" เป็นศัพท์ที่วัยรุ่นปัจจุบันนำมาดัดแปลงจากคำว่า "ใช่มั้ย" "ใช่ไหม" ซึ่งใช้กันเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ เช่นเดียวกับคำว่า "เก๋" ซึ่งสามารถใช้คำว่าดูดีหรือเข้าท่าก็ได้ แต่เมื่อใช้ในภาษาพูดก็กลับใช้คำว่าเก๋แทน แม้กระทั่งคอลัมนิสต์หนังสือหลาย ๆ เล่มก็ยังใช้คำชิมิในงานเขียนของตน เพียงแต่เป็นการใช้ในบริบทมีนัยที่ควรจะเป็น เสมือนการหยิกแกมหยอกให้ดูน่ารัก ครึกครื้น ไม่ได้ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อแต่อย่างใด

          ดร.อนันต์ กล่าวว่า ตนเข้าใจถึงความห่วงใยของผู้คนในสังคมที่มีต่อการใช้ภาษาไทย ซึ่งหากเป็นนักวิชาการที่ศึกษาด้านภาษาอย่างจริงจังก็จะมองในประเด็นด้านวิชาการ ซึ่งภาษามี 2 สถานภาพ คือ 1. ใช้เพื่อการสื่อสาร หากสื่อความหมายได้ เข้าใจระหว่างกัน จะใช้อย่างไรก็ได้ 2. เป็นวัฒนธรรม หากใช้แล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยใช้ ก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์

          ด้านนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า เรื่องภาษาต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น ภาษาที่เป็นทางการกับภาษาที่ไม่เป็นทางการ ภาษาที่เป็นทางการก็น่าเป็นห่วง เวลานี้อย่าว่าแต่พูด-อ่านเลย การเขียนก็น่าเป็นห่วง เรียกว่าลายมือไม่นั่งบรรทัด หมายความว่าเวลาคัดลายมือตัวหนังสือไม่ติดเส้นบรรทัด เขียนไม่เป็น ไม่รู้ความ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่ตนมั่นใจว่านักภาษาน่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ส่วนภาษาไม่เป็นทางการ หรือเรียกว่าภาษาแสลงนั้น ที่จริงแล้วมันเป็นไปตามธรรมชาติของสังคมใดสังคมหนึ่งในการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มวัยรุ่นมีภาษาของเขา ถ้าเป็นที่นิยมจะอยู่ได้ หากไม่เป็นที่นิยมจะหมดไปเอง เช่น คำว่ากิ๊กของภาษาสแลงวัยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งหากใช้เวลาสักพักก็จะหมดความนิยมไป
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!