‘ธนาคารโลก’มองต่างมุม‘ไอเอ็มเอฟ’กรณีมาตรการคุมเงินทะลักเข้าระบบ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
เอเจนซี - ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรตรองถึงวิธีที่จะจำกัดวงบรรดาเงินทุนที่ไหลเข้าไปจนอาจทำให้ค่าเงินแข็งตัวและเกิดภาวะฟองสบู่ในระดับราคาของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก ถูกระบุว่าได้กล่าวอย่างนั้นในการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ
แต่ในด้านของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีนามว่า นาโอยูกิ ชินาฮารา ให้สัมภาษณ์แก่รอยเตอร์ในทางคัดค้าน โดยชี้ว่าการกระทำตามคำแนะนำดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องน่าพึงปรารถนา
ทัศนคติอันขัดแย้งกันต่อเรื่องการควบคุมเงินทุน ผุดขึ้นในท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีตัวสูงในระหว่างฝั่งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กับฝั่งประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และหลายฝ่ายคาดว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นร้อนบนเวทีการประชุมกลุ่มจี-7 กับไอเอ็มเอฟ ที่จะเปิดฉากในวันศุกร์ (
พวกผู้นำชาติตะวันตกต่างเป็นกังวลว่า การที่นานาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่พากันถล่มราคาของสกุลเงินประจำชาติให้อ่อนตัวลงมากๆ อาจทำให้โมเมนตั้มของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจถึงกับพังพาบลงได้
ในเวลาเดียวกัน ฝ่ายตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ชี้ว่าการที่ประเทศร่ำรวยเดินนโยบายดอกเบี้ยอ่อนตัวต่ำเตี้ยสุดโต่ง ได้ผลักให้เงินทุนมหาศาลไหลเข้าสู่ตลาดของพวกตน พร้อมกับผลักให้ค่าเงินของพวกตนทะยานแข็งขึ้นสูงลิ่ว อีกทั้งทำให้ราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เฟ้ออย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
“เมื่อมีการเคลื่อนไหวแบบผันผวนเป็นครั้งคราวภายในตลาด มาตรการแทรกแซงย่อมไม่ควรจะถูกปฏิเสธ แต่มันจะเป็นเรื่องไม่น่าพึงปรารถนาเอาเลยถ้าจะคอยเข้าแทรกแซงอยู่เสมอๆ เพื่อรักษาให้ค่าเงินค้างอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง” ชินาฮารา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่แห่งไอเอ็มเอฟ กล่าวอย่างนั้น
**สกัดกั้นห้ามปรามอย่างแรง**
นายชินาฮารา ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นผู้ดูแลเรื่องค่าเงินเยน หรือที่เรียกกันว่า “ซาร์แห่งค่าเงินเยน” ก่อนไปรับตำแห่งในไอเอ็มเอฟ เตือนทางการญี่ปุ่นว่า อาจเป็นฝ่ายแพ้หากหาญไปต้านกระแสตลาดเพื่อกดให้เงินเยนอ่อนค่าลงมา เพราะสภาพการณ์ทางการเงินของฝั่งสหรัฐอเมริกากับฝั่งยุโรปนั้นน่าจะผ่อนเบากว่า
“มันไม่ใข่อะไรที่ญี่ปุ่นจะไปคุมได้ ถ้าญี่ปุ่นพยายามปรับเปลี่ยนตรงนี้ ก็เท่ากับไปบิดเบือนตลาด” ชินาฮาราว่าอย่างนั้น พร้อมเสริมว่า แทนที่จะทำอย่างนั้น ทางการญี่ปุ่นน่าจะไปมุ่งกับเรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง กับการผ่อนปรนเชิงการเงินเพื่อแก้ปัญหาเงินตึงตัว
ญี่ปุ่นเปิดปฏิบัติการเข้าซื้อเงินเยนในตลาดเงินเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรกในรอบหกปี อย่างไรก็ตาม ณ วันพุธที่ผ่านมา (6) เงินเยนกลับแข็งขึ้นแตะสถิติสูงสุดตลอดกาลในรอบ 15 ปี
ในเวลาเดียวกัน นายกฯ นาโอโตะ คัง ของแดนอาทิตย์อุทัยประกาศไว้แล้วว่า กรณีของการเคลื่อนไหวค่าเงินแบบที่กระชากแรงๆ เป็นสิ่งที่มิอาจละเลยเพิกเฉยได้ และรัฐบาลญี่ปุ่นจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดหากจำเป็น
สัญญาณชี้บ่งถึง “สงครามหั่นราคาค่าเงิน” ทวีตัวขึ้นเรื่อยๆ ในยามที่ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ทั้งหลายต้องการฉุดให้ค่าเงินของประเทศตนอ่อนตัวลงมากๆ ในอันที่จะช่วยหนุนภาคส่งออกซึ่งอยู่ในภาวะย่ำแย่ ในเวลาเดียวกัน ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายสำคัญ อาทิ บราซิล และเกาหลีใต้ ก็เริ่มหรืออย่างน้องก็เล็งที่จะก้าวเข้าไปสกัดการไหลเข้าของเงินทุนร้อนแรง เข้าไวออกไวทั้งปวง
ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ โดมินิค สเตราส์-คาห์น ปรากฏเป็นข่าวในไฟแนนเชียลไทมส์ ฉบับวันพุธ (6) ว่าได้ออกมาพูดว่า การใช้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเป็นอาวุธเชิงนโยบายในการตัดราคาเอากับประเทศอื่น และหนุนเสริมผู้ส่งออกของประเทศตนนั้น “จะส่งผลเป็นความเสี่ยงอย่างร้ายแรงมากต่อการฟื้นตัวของโลก”
ในส่วนของรมว.คลังแห่งสหรัฐฯ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ออกมาพูดเมื่อวันพุธเช่นกันว่า ชาติต่างๆ ที่มีการเกินดุลการค้ามากๆ ควรปล่อยให้เงินของตนไต่ระดับสูงขึ้นไป เพื่อป้องกันการลดค่าเงินแข่งกันไปรอบวงอันจะเป็นเรื่องที่สร้างหายนะอย่างยิ่ง