น่ารักสุดๆ
|
|
« เมื่อ: กรกฎาคม 07, 2010, 07:07:27 PM » |
|
ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา 21 รายการ
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2553 ทั้งหมด 4 สาขา 21 รายการ
นายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ออกมาเปิดเผยถึงการคัดเลือก มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในปี 2553 นี้ว่า ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ทำการเลือกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งหมด 4 สาขา รวมทั้งสิ้น 21 รายการ มีผลวันที่ 30 ก.ค. ดังนี้
1.สาขาศิลปะการแสดง 6 รายการ ได้แก่ ปี่พาทย์, ละครใน, หุ่นกระบอก, ลิเกทรงเครื่อง, รำเพลงช้า-เพลงเร็ว, แม่ท่ายักษ์-ลิง
2.สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม 4 รายการ ได้แก่ ผ้ายก, ผ้ามัดหมี่, เรือพระราชพิธี, การปั้นหล่อพระพุทธรูป
3.สาขาวรรณกรรม 10 รายการ ได้แก่ ประเภทนิทานพื้นบ้าน ศรีธนญชัย, สังข์ทอง, ขุนช้างขุนแผน, ประเภทตำนานพื้นบ้าน ได้แก่ ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์, ตำนานดาวลูกไก่, ตำนานพระเจ้าเลียบโลก, ประเภทบทสวด หรือบทกล่าวในพิธีกรรม ได้แก่ บททำขวัญข้าว, บททำขวัญนาค และประเภทตำรา ได้แก่ ตำราแมว ตำราสักยันต์
4.สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ได้แก่ มวยไทย
โดยนายสมชาย กล่าวว่า การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกครั้งนี้ เนื่องจากต้องการคุ้มครองภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก เนื่องจากในปัจจุบันมีเด็กน้อยมากที่จะรู้จักประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมในอดีต นอกจากนี้ยังเหลือการขึ้นทะเบียนอีก 2 สาขา คือ สาขาแนวทางปฏิบัติการสังคม ประเพณีพิธีกรรม และสาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา
ความหมายเพิ่มเติม
ผ้ายก
เป็นผ้าไหมที่ทอยกลายในตัว โดยใช้เส้นพุ่งพิเศษเป็นดิ้นเงินดิ้นทอง ทอกันแพร่หลายในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อของ “ไหมพุมเรียง”
แม่ท่ายักษ์-ลิง
คำว่า แม่ท่า นั้นมาจากการรำเป็นชุด ๆ ด้วยท่าใดท่าหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งเป็นแม่ท่ายักษ์ ที่มีถึง 6 ท่า และแม่ท่าลิง มีถึง 5 แม่ท่า หมายถึงการรำท่ายักษ์ และท่าลิง นั่นเอง
ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์
คือวรรณกรรม ที่มาจากคาถาเรียกกำลัง เช่น ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ ของหลวงพ่อโสธร เป็นต้น
ตำนานพระเจ้าเลียบโลก
เป็นวรรณกรรมทางศาสนาที่มีการแพร่กระจายอยู่บริเวณดินแดนล้านนา สิบสองปันนา รัฐฉาน และล้านช้าง ตลอดจนถึงบางพื้นที่แถบภาคอีสานอีกด้วย โดยเนื้อหาสำคัญของวรรณกรรมเรื่องนี้ กล่าวถึงการเสด็จมาเผยแผ่พระศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธสาวก ซึ่งมีการพรรณนาถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เชื่อมโยงเข้ากับตำนานของแต่ละ ภูมิภาคและท้องถิ่น อันประกอบด้วยเมือง ชุมชน ผู้คน ชาติพันธุ์ รวมถึงระบบการค้าที่รวมเรียกว่าสังคมและวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจยิ่ง
โดยแก่นของเรื่องดังกล่าวนี้ ได้มุ่งเน้นการสถาปนาศาสนสถานที่สำคัญเอาไว้กับท้องถิ่นต่างๆ ที่เรื่องราวได้ดำเนินมาถึงด้วยการประดิษฐานรอยพระบาทและพระเกศาธาตุ พร้อมพุทธพยากรณ์ว่าพื้นที่อันเป็นภูมิสถานศักดิ์สิทธิ์ โดยมีสิ่งสำคัญทางความศรัทธาประดิษฐานเอาไว้นั้นจะได้มีความเจริญ รุ่งเรือง ในภายหน้าด้วยพระศาสนา ซึ่งนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของท้องถิ่นในภูมิภาค แถบนี้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าวรรณกรรมทางศาสนาเรื่องอื่นๆ อีกทั้งยังได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของเรื่องราวและขนบในการประพันธ์ตำนาน พระบาทและพระธาตุ ที่แพร่หลายอยู่ในดินแดนแถบนี้นัยว่าเป็นการสร้างความเลื่อมใสศรัทธาของผู้ คนในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการยึดโยงความสัมพันธ์ภายใต้คติความเชื่อเดียวกันของพุทธ ศาสนิกชนโดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าไทในภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขง
ตำนานดาวลูกไก่
เป็นวรรณกรรมนิทาน ที่ชายป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากเชิงเขา ตากับยายปลูกกระท่อมอาศัยอยู่กันตามลำพัง มีอาชีพเก็บผักและของป่าไปขายพอเลี้ยงชีพได้ ตากับยายเลี้ยงไก่ไว้ตัวหนึ่ง ต่อมาแม่ไก่ออกไข่และฟักออกมาเป็นลุกน้อยๆ น่ารักถึงเจ็ดตัว ทุกเช้าแม่ไก่จะร้องกุ๊กๆ เรียกลูกออกไปหากิน สอนให้คุ้ยเขี่ยอาหารและแมลงเล็กๆ ตามพื้นดิน บางวันยายก็จะโปรยข้าวสุกเหลือๆ จากก้นหม้อให้กินด้วย แม่ไก่กับลูกๆทั้งเจ็ดมีความสุขมาก และรู้สึกกตัญญูต่อตายายที่เลี้ยงดูพวกตนอย่างเมตตา ส่วนตากับยายนั้นก็เฝ้าดูแม่ไก่และลูกเจี๊ยบน้อยที่คลอเคลียตามแม่ไม่ยอมห่างด้วยความเอ็นดู
ยายตั้งชื่อลูกเจี๊ยบตัวเล็กที่สุดว่า เจ้า "จิ๋ว" "ดูเจ้าจิ๋วสิตา ท่าทางมันขี้อ้อนแม่มันน่าดู" ยายพูด
วันหนึ่งขณะที่แม่ไก่พาลูกๆ คุ้ยเขี่ยหากินอยู่ที่ลานดินหน้ากระท่อม แม่ไก่รู้สึกมีเงาดำทะมึนแผ่กว้างอยู่บนฟ้า แม่ไก่ตกใจรีบส่งเสียงเรียกลูกมาใกล้ๆ แต่ลูกๆ ก็ไม่ได้ยิน แม่ไก่แหงนหน้าขึ้นมองก็เห็นเหยี่ยวตัวใหญ่กำลังถลาร่อนลงมาจะโฉบเอาเจ้าจิ๋วลูกรัก
"โอ..แย่แล้ว...กุ๊กๆๆ เจ้าจิ๋วลูกรักวิ่งหนีไปเร็ๆ ลูกๆ วิ่งเร็วๆ" แม่วิ่งผวาไปหาลูก แล้วกางปีกป้องกันลูกรัก เรียกลูกมาซุกใต้ปีกของตัวแล้วพาวิ่งไปหมอบที่กอไผ่อย่างรวดเร็ว ตากับยายได้ยินเสียงลูกไก่ร้องจึงรีบวิ่งออกมาช่วยไล่เหยี่ยวบินหนีไป แม่ไก่และลูกๆ จึงปลอดภัยและยิ่งรักตากับยายมากขึ้น
เย็นวันหนึ่งมีพระธุดงค์มาปักกลดอยู่ริมเชิงเขา ตากับยายจึงเข้าไปนมัสการ และตั้งใจว่าจะทำอาหารไปถวายพรุ่งนี้ แต่เมื่อค้นดูเสบียงอาหาร ในครัวก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ตากับยายสงสารพระมากเกรงว่าจะอดอาหาร เพราะในละแวกนี้มีบ้านของตนเพียงหลังเดียว จึงปรึกษากันว่าอาจจะต้องฆ่าแม่ไก่แล้วทำอาหารถวายพระ ทั้งตาและยายรู้สึกเศร้าใจมากด้วยความรักและสงสารแม่ไก่และลูกเจี๊ยบต้องกลายเป็นลูกไก่กำพร้า บังเอิญแม่ไก่แอบได้ยินตากับยายปรึกษากัน จึงตัดสินใจยอมสละชีวิตเพื่อตอบแทนบุญคุณของตากับยาย แม่ไก่เรียกลูกๆ มาเล่าเรื่องให้ฟัง และสั่งสอนให้รักกันอย่าทะเลาะกัน เจ้าจิ๋วลูกสุดท้องอย่ากวนใจพี่มากนัก อย่าขี้อ้อนงอแง "จำไว้นะลูกๆ ต้องรักกัน สามัคคีกัน อย่าทำให้ตากับยายร้อนใจ
"ฮือๆ หนูจะอยู่กับแม่ หนูคิดถึงแม่ แม่อย่าทิ้งลูกๆไปนะจ๊ะ" ลูกไก่ร้องไห้รำพันอย่างน่าสงสาร ทุกตัวต่างกอดซุกอยู่กับอกแม่เป็นครั้งสุดท้าย
เช้ามืดวันรุ่งขึ้นเมื่อตากับยายก่อไฟเตรียมประกอบอาหารทันใดนั้นตากับยายก็ต้องตกตะลึงจนร้องไม่ออกเมื่อเห็นลูกไก่ทั้งเจ็ดตัววิ่งตามกันกระโดดเข้ากองไฟด้วยความรักแม่ไก่
เทวดานางฟ้าผู้พิทักษ์ความดีต่างก็ซาบซึ้งในความกตัญญูของแม่ไก่และลูกไก่จึงรับเอาลูกไก่ทั้งเจ็ดไปอยู่บนฟากฟ้ามีแสงระยิบระยับเป็นประกาย ประกาศถึงความดีที่มีความรักความสามัคคีของพี่น้องทั้งเจ็ดนั่นเองเด็กๆ มักได้ฟังนิทานเรื่อง " ดาวลูกไก่" อยู่เสมอเมื่อมองฟากฟ้ายามปราศจากเมฆฝน ก็จะเห็นดาวลูกไก่ดวงเล็กๆ ที่อยู่กันเป็นกลุ่มส่องแสงระยิบระยับน่าเอ็นดู และมีความเชื่อว่าลูกไก่สละชีวิตตามแม่ไก่ไป
ในความเป็นนิทานนั้นผู้เล่ามุ่งหวังจะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก ความเมตตาของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์เลี้ยง และความกตัญญูรู้คุณ อีกทั้งความตั้งใจทำหน้าที่ตามบทบาทของตนให้ดีที่สุด
ตำราแมว
เป็นวรรณกรรมสัตว์ศาสตร์ เป็นตำราแมวที่เก่าแก่ที่สุดของไทย สามารถหาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ ไม่ระบุว่าใครเป็นผู้แต่งและแต่งขึ้นในสมัยใด ในสมุดข่อยจะประกอบไปด้วยโคลงกลอน พร้อมรูปวาดสีของแมวแต่ละชนิดด้วย
|