ไขมันพอกตับ ใครอยู่กลุ่มเสี่ยง?
ไขมันพอกตับ (หมอชาวบ้าน)
ไขมันพอกตับ เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่ามีไขมันพอกตับหรือไขมันเกาะตับ ทำให้เกิดความวิตกกังวลกับผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรูปร่างอ้วน เป็นเบาหวานและมีไขมันในเลือดสูง
ในคนปกติ ตับจะมีบทบาทสูงมากในการรักษาชีวิตให้เป็นปกติ เพราะจะทำงานเสมือนโรงงานบำบัดน้ำเสีย โรงงานกำจัดขยะและโรงงานแปรรูปสารอาหาร โดยอาหารที่ถูกย่อยและดูดซึมจากทางเดินอาหารจะต้องผ่านตับ เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมก่อนนำไปเลี้ยงร่างกาย
ของเสียและสารพิษบางอย่างที่อยู่ในเลือดเมื่อไหลเวียนผ่านตับก็จะถูกขจัดออกไป สารอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำตาลจะถูกนำไปเปลี่ยนเป็นแป้ง (ไกลโคเจน) สะสมไว้ที่ตับ เพื่อเป็นสารอาหารสำรองไว้ใช้ขณะที่ร่างกายไม่ได้กินอาหาร ซึ่งจะมีเพียงพอที่จะใช้เป็นพลังงานได้นาน 6-8 ชั่วโมง แต่ถ้าต้องอดอาหารนานกว่านี้ ร่างกายจะเคลื่อนย้ายไขมันมาจากเนื้อเยื่อไขมันมายังตับ เพื่อแปรรูปเป็นสารพลังงานต่อไป
ในคนที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่ขาดอาหารหรืออดอาหาร จะมีการเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเนื้อเยื่อไขมันมากขึ้น ขณะเดียวกันตับก็ไม่สามารถแปรรูปไขมันที่ถูกนำเข้ามาเป็นจำนวนมากได้ทัน จึงเกิดการสะสมขึ้นในตับ เกิดภาวะไขมันพอกตับได้
ยาบางอย่าง เช่น สารสเตียรอยด์และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ก็ทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ การมีไขมันพอกตับอาจทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตับ แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะส่วนใหญ่ของผู้ที่มีไขมันพอกตับ ไม่มีการอักเสบเรื้อรังของตับ
สรุปภาวะเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ ได้แก่
การดื่มสุรา
กลุ่มคนที่อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
ผู้ที่เป็นตับอักเสบจากไวรัสบี ซี หรือจากภูมิแพ้
ได้ยาบางอย่าง
การขาดอาหาร
การรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัดว่าจะรักษาภาวะไขมันพอกตับ ดังนั้นการรักษาจึงมุ่งที่การปฏิบัติตัว คือ
การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป
ออกกำลังกาย
หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา
ควบคุมเบาหวานและภาวะไขมันในเลือดสูง ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด
ส่วนการใช้ยาลดไขมันกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เรียกว่ากลุ่มสแตติน ซึ่งจะออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล ยากลุ่มนี้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิงขู่ให้คนเรารู้สึกกลัวการมีไขมันในเลือดสูง (ซึ่งบางครั้งสูงแค่เพียงเล็กน้อยก็กังวลจนเกินเหตุ )
ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่จะยืนยันว่า ยากลุ่มนี้จะช่วยลดไขมันที่พอกตับ แต่ยากลุ่มนี้จะช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอล ขณะเดียวกันฤทธิ์ข้างเคียงก็มี เช่น ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาจเป็นพิษต่อตับ ไต สมอง และเส้นประสาท ซึ่งแทบจะไม่มีใครกล่าวถึง จึงทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การใช้ยาทุกวันนี้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการหรือการตลาดกันแน่
แม้แต่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ H1N1 ซึ่งเคยประโคมข่าวความน่ากลัวกันใหญ่โต ปัจจุบันในประเทศไทยเองเชื่อว่าคนที่อยู่ในชุมชนหลายคนคงได้รับเชื้อกันไปมากมาย เพียงแต่ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทาน ทำให้สบายดีหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่จากผลของความกลัวที่เกิดขึ้นก็สามารถทำให้บริษัทยาต่าง ๆ สามารถทำกำไรจากการขายยาและวัคซีนได้เป็นกอบเป็นกำ อย่างนี้ต้องเรียกเป็น "นโยบายการตลาดแบบขู่ให้กลัว" เพื่อกระตุ้นยอดขาย
ยาก็คือสารเคมี มีทั้งข้อดีข้อเสีย การให้ข้อมูลผู้ใช้ยาทั้ง 2 ด้าน และรณรงค์ให้ใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้านบนพื้นฐานของวิชาการและคุณธรรมเป็นสิ่งที่ควรต้องตระหนักมากกว่าการมุ่งใช้การตลาดนำ รวมถึงทั้งผู้ป่วยและแพทย์เองก็ต้องระวังการเป็นเหยื่อของการตลาดทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม