TARADTHONG.COM
พฤศจิกายน 27, 2024, 01:51:39 PM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: IMF ไม่เชื่อโลกจะมีสงครามหั่นค่าเงิน ขณะสภาUSดันกม.ซัดจีนที่กด'หยวน'  (อ่าน 6150 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
น่ารักสุดๆ
Administrator
Hero Member
*****

คะแนนความนิยม: 2330
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1658



ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: กันยายน 30, 2010, 09:24:10 AM »

IMF ไม่เชื่อโลกจะมีสงครามหั่นค่าเงิน ขณะสภาUSดันกม.ซัดจีนที่กด'หยวน'

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามหั่นค่าเงินระบาดไปทั่วโลกนั้น อยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีภัยคุกคามในเรื่องนี้อยู่เลย นั่นเป็นการประเมินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (28) ของ โดมินิค สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการแห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ หลังจากที่บางประเทศทยอยกันเข้าแทรกแซงค่าเงินกันมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯเตรียมผ่านร่างกฎหมายเมื่อวันพุธ(29) ซึ่งมุ่งลงโทษจีนในข้อหากดค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง
       
       ในท่ามกลางความขุ่นเคืองที่พอกพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายๆ ประเทศต่างพากันเทเงินสกุลของตนเองเข้าสู่ระบบการเงิน เพื่อดึงให้ค่าเงินอ่อนตัวลง ในอันที่จะเอื้อให้สินค้าของประเทศมีราคาถูกลงเมื่อนำออกขายในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ชาติคู่แข่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและได้รับความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจอย่างมากมาย อย่างไรก็ตาม บิ๊กบอสแห่งไอเอ็มเอฟยังมั่นใจว่าศึกหั่นค่าเงินระหว่างชาติต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นเพราะแต่ละชาติต่างรู้ว่าทำไปก็มีแต่จะเข้าเนื้อ
       
       “ผมคิดว่าความเป็นไปได้มีค่อนข้างต่ำ เพราะทุกฝ่ายต่างเข้าใจดีว่าหากปล่อยให้ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต... ก็จะต้องเผชิญกับผลกระทบเชิงลบ แต่กระนั้นก็เถอะ มันก็อาจเกิดขึ้นได้อยู่หรอกครับ” สเตราส์-คาห์น แห่งไอเอ็มเอฟ กล่าวกับนักข่าวในกรุงวอชิงตัน
       
       การออกโรงครั้งนี้เกิดขึ้นหนึ่งวัน หลังจากที่รมว.คลังของบราซิล กุยโด้ มันเตก้า ออกปากแสดงความขุ่นเคืองที่เงินรีลของประเทศตนถูกดันให้แข็งขึ้น ยามที่ชาติอื่นเอาแต่หั่นค่าเงินด้วยนานากลวิธี จนกระทั่งภาคส่งออกที่เคยคึกคักอย่างยิ่งต้องได้รับความเสียหาย
       
       “เราอยู่ในท่ามกลางสงครามแทรกแซงค่าเงินครับ” มันเตก้ากล่าวอย่างนั้นในกรุงเซา เปาโล พร้อมบ่งใบ้ว่าจะเกิดการแทรกแซงค่าเงินในฝ่ายของตนบ้างในไม่ช้า “เรื่องนี้คุกคามบราซิล เพราะมันบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของพวกเรา”
       
       เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นานารัฐบาลร่วมสิบกว่าเจ้า ตั้งแต่โคลอมเบียถึงสิงคโปร์ เปิดปากยอมรับว่าเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อกดดันให้ค่าเงินของตนอ่อนตัว ในอันที่จะช่วยให้ราคาสินค้าส่งออกถูกลง ในเวลาเดียวกัน เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินรีลของบราซิล ก็อ่อนยวบลงมาก ราว 25% แล้วนับจากต้นปีที่ผ่านมา
       
       แต่อันที่จริงแล้ว จุดเปราะบางที่สุดในศึกหั่นค่าเงินนั้น ปรากฏอยู่ในระหว่างคู่รักคู่แค้นเก่าแก่ คือสหรัฐฯ กับจีน
       
       หลายปีที่ผ่านมา วอชิงตันโจมตีปักกิ่งครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าจีนทำให้ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมหาศาล ขณะที่สหรัฐฯ ก็ใช้สารพัดกลวิธีในอันที่จะบีบเค้นให้จีนผละออกจากนโยบายกดค่าเงินหยวนให้อ่อนจัดๆ ด้วยหวังว่าเมื่อเงินหยวนสะท้อนความเป็นจริงออกมา สินค้าของจีนจะไม่ถูกสตางค์อย่างที่เป็นอยู่ และยอดขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ มีอยู่กับจีนอย่างมากมายและเรื้อรังก็จะกระเตื้องขึ้น พร้อมกับส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะแย่น้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บอบช้ำซวนเซจากวิกฤตในตลาดการเงินโลก
       
       ทั้งนี้ ในวันพุธนี้ (29) สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ มีกำหนดโหวตร่างกฎหมายใหม่ที่มีมาตรการลงโทษสินค้าจีน หากเงินหยวนที่เชื่อกันว่าต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น ยังไม่ถูกปลดปล่อยให้สะท้อนความเป็นจริง และได้ดีดตัวขึ้นมาเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
       
       ตามร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีการขยายอำนาจแก่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้สามารถกำหนดพิกัดภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าที่พบว่า ชาติต้นทางมีการแทรกแซงค่าเงินของประเทศตน
       
       เสียงสนับสนุนร่างกฎหมายฉบัคบนี้ว่ากันว่าหลั่งไหลมาจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เพราะในอีกเพียง 5 สัปดาห์ข้างหน้า ก็จะถึงฤดูกาลเลือกตั้งกลางเทอมที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯทั้งสภา และสมาชิกวุฒิสภาราว 1 ใน 3 โดยที่พวกนักการเมืองอเมริกันเชื่อว่าหากพวกตนประสบความสำเร็จในศึกเศรษฐกิจกับจีน พวกตนจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่ปักใจเชื่อกันไปหมดแล้วว่าจีนทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำร้ายเศรษฐกิจ จนเกิดการว่างงานมหาศาลกระทั่งว่าอัตราการว่างงานพุ่งเกือบ 10% แล้ว
       
       คาดหมายกันว่าร่างกฎหมายนี้น่าจะผ่านสภาผู้แทนฯไปได้อย่างไม่ลำบาก จากนั้นก็จะต้องให้วุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็นช่วงภายหลังการเลือกตั้งกลางเทอมตอนต้นเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว ตรงนี้เองยังเป็นที่สงสัยกันว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากสภาสูงหรือไม่ เนื่องจากพวกหอการค้าอเมริกันและกลุ่มธุรกิจอเมริกันที่ไปทำมาหากินในจีน ต่างออกมาคัดค้านว่าร่างกฎหมายเช่นนี้ก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
       
       ในระดับนานาชาติ การงัดข้อในประเด็นค่าเงินน่าจะระอุขึ้นอีกในสัปดาห์หน้า เมื่อบรรดารมว.คลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของนานาประเทศจะไปรวมตัวกันประชุมที่วอชิงตัน ในวาระการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟ ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม และต่อด้วยการประชุมซัมมิตกลุ่มจี-20 ที่เกาหลีใต้ ในสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม
       
       สำหรับบทบาทและความรับผิดชอบของไอเอ็มเอฟต่อปัญหาการแทรกแซงค่าเงิน เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากเช่นกัน
       
       “ไอเอ็มเอฟเองก็ปล่อยปละกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องเฝ้าระวังปัญหาเรื่องนี้ด้วย สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นข้างนอกนั้นเป็นเรื่องที่ปล่อยกันตามชอบ ใครอยากทำอะไร ก็ทำกันไป” กล่าวโดยมอร์ริส โกลด์สไตน์ อดีตเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสถาบันคลังสมองชื่อดัง Peterson Institute for International Economics
       
       “ถ้าจีนสามารถแทรกแซงตลาดเงินได้เรื่องๆ และทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเป็นไปตามต้องการได้เป็นเจ็ดปีแปดปีต่อเนื่อง โดยที่ไอเอ็มเอฟไม่พูดอะไรสักแอะ งั้นทำไมชาติอื่นๆ จะทำบ้างไม่ได้” โกลด์สไตน์ว่าไว้อย่างนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!