บ่อบอล-บ้านบอล ของเล่นสุดฮิต ที่...ชวนช็อก! (M&C แม่และเด็ก)
บ้านบอล บ่อบอล ของเล่นสุดฮิตของเด็ก ๆ ทุกวัย ภายใต้ความสนุกสนานนั้น อาจต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
บ่อบอล บ้านบอล ได้รับความนิยมจากเด็ก ๆ และพ่อแม่อย่างมาก เป็นพื้นที่เล่นสุดฮิตของเด็ก ๆ ที่อยู่ในแผนกเครื่องเล่นของห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่าง ๆ นอกจากจะเป็นรูปบ้าน รูปบ่อน้ำ คอกกั้น แบบเดิม ๆ แล้ว ปัจจุบันยังออกแบบมาในรูปรถบัส รถดับเพลิง เรือท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงใด มักจะบรรจุลูกบอลพลาสติกขนาดย่อมอยู่ในนั้นจนแน่นเอี้ยด เพื่อให้บรรดาเด็กเข้าไปวิ่ง ๆ กลิ้ง ๆ ได้อย่างสนุกสนาน หรือบางครั้งไม่ได้แค่เป็นบ่อบอลอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพลย์แลนด์แบบผสมผสาน คือมีทั้งที่วิ่งเล่น ปืนป่ายไต่ราว ข้ามสะพาน แล้วสไลเดอร์ลงบ่อบอล แค่พ่อแม่เสียเงินเพียงไม่มาก ก็สามารถปล่อยให้ลูกเข้าไปเล่นเป็นเวลานานทีเดียว พ่อแม่บางคนถึงกับหลบไปชอปปิ้งต่อ
จริง ๆ แล้วบ่อบอลและเพลย์แลนด์เป็นที่ดึงดูดความสนใจเด็กได้เป็นอย่างมาก ยิ่งตกแต่งสีสันฉูดฉาด เหลือง ๆ แดง ๆ เขียว ๆ ลูกเล่นหลากหลาย ยิ่งเพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้กับเด็ก ๆ ด้านพัฒนาการ ก็แน่นอนครับเพิ่มพละกำลังกล้ามเนื้อและทักษะการเคลื่อนไหว การทรงตัวได้มาก พ่อแม่ก็ควรหาโอกาสได้พาลูก ๆ ไปใช้บริการกันบ้าง แต่คงต้องเลือกสถานประกอบการที่สนใจทำให้เด็ก ๆ อย่างแท้จริง คือคิดเรื่องความปลอดภัยและความสะอาดให้มาก ๆ อาจจะหายากสักหน่อยเพราะตามห้างหลายแห่งก็ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ เอาแต่จะได้กำไร ไม่มีการตรวจสอบ หน่วยงานก็เข้าไปควบคุมได้ไม่ทั่วถึง แทนที่เด็กจะได้พัฒนาการเพิ่มขึ้น กลับทำให้เด็กเจ็บป่วยบ้าง บาดเจ็บบ้าง พัฒนาการถดถอยกันไป อย่างนี้ก็ไม่ไหวพ่อแม่ต้องช่วยกันตรวจสอบ โวยวายให้หน่วยงานที่ดูแล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสำนักงานคุ้มครอง ผู้บริโภคเข้าไปตรวจสอบกันมาก ๆ ครับ
เจ้าตัวเล็กถูกตัวใหญ่ทับ
หากเป็นบ่อบอลขนาดเล็กที่เราซื้อมาต่อเป็นบ่อเอง แล้วซื้อลูกบอลสักสองสามร้อยลูกมาใส่ที่บ้าน ก็คงจำกัดอายุผู้เล่นได้ ไม่มีใครมาเล่นกวนใจลูกเรา แต่ถ้าไปเล่นตามห้างสรรพสินค้าก็คงลำบากหน่อยครับ ทางที่ดี ทางห้างควรจะต้องแยกกันระหว่างเพลย์แลนด์ของเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ปี และเด็กโตอายุ 3-7 ปี ความสูงที่สุดน่าจะประมาณ 120 ซม. เพื่อไม่ให้ขนาดของเด็กแตกต่างกันจนเกินไป อายุเกินกว่านี้ก็ให้ไปเล่นที่อื่นดีกว่าครับ บางแห่งหากไม่ได้แยกเพลย์แลนด์ตามอายุ ก็อาจใช้วิธีแบ่งเป็นรอบของการเล่น เช่น รอบนี้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปีหรือความสูงน้อยกว่า 95 ซม. เท่านั้น รอบต่อไปสำหรับเด็กโต 95-120 ซม. หรืออาจมีรอบของเด็กที่โตกว่านี้ด้วยก็ได้ ถ้าแบ่งรอบแล้วปัญหาก็จะน้อยลงไป
ปัญหาที่สำคัญคงเป็นเรื่องการบาดเจ็บ เด็กโตมักเล่นอย่างโลดโผน ยิ่งมากันเป็นกลุ่มใหญ่ยิ่งเฮี้ยวกันเต็มที่ บางครั้งเล่นกระโดดทิ้งตัวลงไปในบ่อบอล ซึ่งหากมีเด็กเล็กสักขวบครึ่งนั่งเล่นอยู่ในนั้น ก็อาจทับตัวเด็กเล็ก เกิดการบาดเจ็บได้มาก ๆ การวิ่งชนกระแทก การขว้างบอลกันอย่างรุนแรง ก็เป็นเหตุบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ๆ
ลูกบอลไม่เด้งดึ๋ง
จากพาดหัวข่าว "ผู้พิพากษา...เมืองโคราช...ลุยห้างดังเมินบุตรสาวขาหักวิ่งในสวนสนุก แจ้งตำรวจเตรียมเล่นงานทั้งแพ่งและอาญา กับห้างสรรพสินค้าดัง" เรื่องของเรื่องก็คือ ลูกสาววัย 5 ขวบ เข้าไปเล่น “บ้านบอล” (ซื้อบัตรผ่านประตูในราคา 20 บาท) ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมล้อมตาข่าย มีประตูทางเข้าขนาดเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบเข้าได้ ภายในมีอุปกรณ์ของเด็กเล่นต่าง ๆ เช่น บันไดลื่น ราวไต่ถัง และพื้นด้านล่างมีลูกบอลหลากสีสันบรรจุอยู่เต็มห้อง พอลูกสาวของท่านผู้พิพากษาเห็นเด็กคนอื่น ๆ โดดลงมาจากราวบันไดลื่น ก็ลองกระโดดบ้าง (ความสูงประมาณ 1.80 เมตร) แต่กลับพลาดพลั้ง ตกลงมายังกองลูกบอลหลากสีที่มีอยู่น้อยนิด แถมคุณภาพลูกบอลเสื่อมสภาพแล้ว ไม่มีความยืดหยุ่นพอที่จะรองรับน้ำหนักได้ ประกอบกับพื้นไม่มีเบาะหนานุ่มรองรับ เธอจึงกระแทกกับพื้นแข็ง ๆ ผลก็คือ...ขาหักต้องเข้าเฝือก
เสน่ห์ของบ้านบอลบ่อบอล คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยลูกบอล ซึ่งทำให้พื้นที่ทั้งหมด มีความยืดหยุ่น กระจายแรงกระกระแทกเมื่อเด็กล้มลง แต่หากบ้านบอลหรือบ่อบอลใส่ลูกบอลเพียงเล็กน้อย ปริมาณไม่เพียงพอ ที่จะกระจายแรงกระแทก แถมลูกบอลที่เอามาใช้ยังไม่มีคุณภาพ แข็งเกินไปหรืออ่อนนิ่มจนเสียสภาพ เสน่ห์ของบ้านบอลก็หมดไป แถมยังเป็นการหลอกตาเด็กและผู้ปกครองคิดว่าล้มได้ไม่เจ็บ ทำให้เกิดเหตุแข้งหักขาหักกันไปแล้วหลายราย ก่อนที่จะให้เด็กเล่นจึงต้องตรวจสอบกันให้ดีครับ
ลูกเล่นมากแต่ขาดมาตรฐาน
บ้านบอล เพลย์แลนด์บางแห่งสวยงาม น่าเล่น แต่พอมองให้ดี ๆ เสา บันได พื้นที่ปืนป่ายต่าง ๆ ก็อาจไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย เสามีมุมคม พื้นไม่มีเบาะรองรับ บางเครื่องชำรุด มีลวดโผล่ยื่นออกมาพร้อมบาด หรือทิ่มแทงเด็กได้ตลอดเวลา ดังนั้นการออกแบบหรือติดตั้งจะต้องทำการออกแบบมาให้ถูกวิธี ถูกต้องในเรื่องความปลอดภัย หลังจากนั้นต้องมีการตรวจสอบ ทะนุบำรุงอย่างต่อเนื่อง
เล่น ๆ เจอกองอ้วก
หากเราท่องไปในอินเตอร์เนต จะพบข้อความ "ชวนช็อก" ของบ่อบอลจนปรับใจแทบไม่ทัน! ก็ลองอ่านฟอร์เวิร์ดเมล์ต่อไปนี้ ดูสิครับ
"ร้านอาหารฟาสต์ฟูดหรือสวนสนุกที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า ก็มักจะมีห้องที่มีลูกบอลเยอะ ๆ ให้เด็กเล่น ลูกชายผมทำนาฬิกาหล่นไปในกองลูกบอลนั้น ระหว่างที่เราพยายามคุ้ยบอลเพื่อควานหานาฬิกา ก็เจอกองอ้วก เศษอาหาร อุจจาระ และอื่น ๆ อีกมากมายอยู่ในนั้น ผมไปร้องเรียนกับผู้จัดการ แล้วก็รู้ว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะเขาทำความสะอาดแค่เดือนละครั้ง หลังจากนั้น ลูกผมก็ไม่เข้าไปเล่นลูกบอลที่นี่อีกเลย"
ไม่ได้อยากให้ใครกลัวกันจนไร้เหตุผล แต่การรู้จักระมัดระวังเพื่อความ "ปลอดภัยไว้ก่อน" โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก ๆ อยู่ในวัยเล็กวัยซน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องพูดถึงกัน จะได้ตระหนักว่า "บ้านบอล" ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงในสวนสนุก! เพราะขนาดประเทศที่มีมาตรฐานการดูแลเรื่องความปลอดภัย และความสะอาด ยังพบสิ่งสุดสยอง แล้วบ้านเราก็คงไม่แคล้วแน่ หากใครควานมือเข้าไปในบ้านบอล!
แน่นอนนี่เป็นความผิดพลาด บกพร่องของผู้ดูแลบ้านบอล บ่อบอล ความผิดของผู้บริหารห้างร้านเหล่านั้น ที่ไม่รับผิดชอบในส่วนของการควบคุมดูแล กลุ่มเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของตนเอง ไม่มีการใส่ใจเรื่องความสะอาด กรณีบ้านบอลจะต้องมีการทำความสะอาดทุกวัน มิฉะนั้นภายใต้กองลูกบอลสารพัดสี อาจอุดมไปด้วยขยะเป็นที่หมักหมมของเศษปฏิกุล และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคร้าย (พ่อแม่ที่ยอมลงทุนซื้อ "บ้านบอล" ขนาดย่อม ๆ มาให้ลูกได้ลุยเล่นเองที่บ้าน ก็ต้องตระหนักเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยให้มากด้วยเช่นกันครับ)
บ่อบอลหรือบ่อเชื้อโรค
ด้วยจำนวนลูกบอลเป็นร้อย ๆ ลูกที่กองเป็นพะเนิน ทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องปัดกวาดพื้น เก็บเศษขยะ ทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อนสารพัด ควรจะต้องเช็ดลูกบอลทุกลูกด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้ออ่อน ๆ ทุกวัน อย่าลืมนะครับว่า เด็กที่มือเป็นแผลเป็นฝีหนอง เด็กเป็นหวัด ขี้มูกไหล ปะปนในบ้านบอล บ่อบอล ความจริงแล้วผู้ควบคุมต้องตรวจเด็กก่อนอนุญาตให้เข้าไปเล่น หากเป็นหวัด ไอขี้มูกไหล มือเท้าเป็นฝี เป็นหนอง หรือแฉะ ๆ ที่เรียกกันน้ำเหลืองไหล หรือเป็นตุ่มน้ำตามแขนขาลำตัวคล้ายเป็นสุกใส เหล่านี้ห้ามเข้าเด็ดขาดครับ บอกว่ามิได้รังเกียจนะครับ แต่ควรจะไปรักษาให้หายก่อนแล้วค่อยมาเล่นกันใหม่จะดีกว่า
ในยุคนี้ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดหมู ไข้มือเท้าปาก ไข้อีแดงอีดำ ไข้สุกใส กำลังระบาดกันเป็นระลอก ๆ หากเด็กเหล่านี้ปะปนในบ้านบอล น้ำลาย น้ำมูก สามารถที่จะปนเปื้อนมาติดต่อกันได้โดยง่ายครับ
พฤติกรรมของผู้เล่น
เด็กก็คือเด็กครับ เล่นไม่ระวังใครอยู่แล้ว ถ้ามีโอกาสแสดงเมื่อไรเป็นทำทันที พ่อแม่ต้องช่วยกำกับการเล่นในขณะที่เด็กอยู่ในบ้านบอล อย่าทิ้งเด็กไว้กับผู้ดูแลเพลย์แลนด์เท่านั้น แล้วตัวเองก็ไปเดินชอบปปิ้ง พ่อแม่ (บางคน) เดินไปชอปปิ้ง ปล่อยให้ลูกเล็ก ๆ เล่นในบ้านบอล (หรือเครื่องเล่นอื่น) โดยลำพัง (เหมือนมอบชีวิตของลูกให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คนเฝ้า) บางทีเด็กมากดูไม่ทัน บางทีคนทำงานก็ล้าบางครั้งไม่มีใจ ไม่มีความรู้เพียงพอในการดูแลเด็ก ลูกเราก็อาจได้รับการบาดเจ็บ หรือได้รับอุบัติเหตุได้ครับ
ป้องกันอันตรายจากบ่อบอล
ก่อนจะปล่อยให้ลูกไปเล่นในบ่อบอลนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องบอกลูกก่อน เพื่อให้เด็กๆ แยกแยะระหว่างจินตนาการของเขา (ความสนุกสุด ๆ) กับโลกของความเป็นจริง (อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้) จะต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่มีในเพลย์แลนด์นั้น มันคืออะไร? เล่นอย่างไร? ต้องระมัดระวังมากน้อยเพียงไร? และปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะปลอดภัย?
นอกจากนั้นพ่อแม่ควรเลือกบ่อบอลบ้านบอล หรือเพลย์แลนด์ที่ดี ปลอดภัยในหัวข้อต่าง ๆ ที่กล่าวแล้ว เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสม ไปสวนสนุกครั้งใดมักรู้สึกไม่สบายใจ เมื่อเห็นเด็ก ๆ ปืนป่ายที่สูงในขณะที่อยู่ในชุดบรรดาซุปเปอร์ฮีโร่ (อุลตราแมน สไปเดอร์แมน แบทแมน ฯลฯ) เพราะชุดเหล่านี้มักจะประกอบด้วย ผ้าคลุม (ปีก) หมวกครอบศีรษะ สายรัดที่ยาวโตงเตง ซึ่งล้วนแต่เป็น "จุดเสี่ยง" ที่ชุดซุปเปอร์ฮีโร่อาจเข้าไปติดไปเกี่ยวกับเครื่องเล่นต่าง ๆ หรือเครื่องยนต์กลไกของเครื่องเล่นตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งนำพาความเสียหายมาให้ เราต้องช่วยกันเรียกร้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น กทม.
รวมทั้งนักธุรกิจ หน่วยงานของเอกชน ผู้ประกอบการทั้งหลาย ที่ให้ความเอาใจใส่ ในด้านการเสริมสร้างความปลอดภัย ในเด็กให้ร่วมมือร่วมใจกันตรวจสอบมาตรฐานบ้านบอล บ่อบอล เพลย์แลนด์ และมีการบำรุงรักษา และซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอ
หากพบของเล่นอันตราย เครื่องเล่นสวนสนุกที่เป็นอันตรายกับเด็ก สามารถแจ้งได้ทันที ที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือสายด่วนของเล่นอันตราย ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทรศัพท์ 0 2644 9080 หรือผ่าน
www.thaisafeplay.com และสุดท้ายนี้ ก็ขอฝากความหวังกับบรรดาท่านเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย โปรดให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ๆ (และผู้ใหญ่) ทุกคนที่มาเที่ยวห้างของท่านอย่างเข้มข้น จริงใจ และตรงไปตรงมา