เยือนบึงกาฬ เที่ยววัดภูทอก เงียบสงบงดงาม
เที่ยว "บึงกาฬ" ในวันฝนพรำ (คู่หูเดินทาง)
จังหวัดบึงกาฬ...เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง มีทั้งน้ำตก ภูเขา แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อาจเพราะเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไกลถึง 751 กิโลเมตร ทั้ง ๆ ที่แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดบึงกาฬมีอยู่มาก เช่น วัดอาฮงศิลาวาส, แก่งอาฮง, วัดสว่างอารมณ์, ตลาดนัดไทย-ลาว, บึงโขงหลง, เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูวัว, น้ำตกเจ็ดสี เป็นต้น
แต่ไฮไลท์เด็ดสุดที่เราไม่อยากให้คุณพลาดเลย คือการไปเยี่ยมชม "วัดภูทอก" หรือ "วัดเจติยาคีรีวิหาร" ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีความเงียบสงบ สวยงามด้วยธรรมชาติแวดล้อม แฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ทางธรรม โดยมี "พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ" เป็นผู้ก่อตั้ง
วัดภูทอก อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล ภูทอกมี 2 ลูก คือ ภูทอกใหญ่ และ ภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือ ภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวชม
จุดเด่นของภูทอกก็คือ สะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอก แบบ 360 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม จากชั้น 1 – ชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้ให้เดินแบบตรงทอดยาวจนถึงจุดสูงสุดของยอดภูทอก และตั้งแต่ชั้นที่ 3 เป็นต้นไปนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมแบบสะพานเวียนรอบเขา ซึ่งจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปเรื่อย ๆ ในแต่ละย่างก้าว
โดยในชั้นที่ 5 ถือว่าเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด จะมีศาลาขนาดใหญ่ พระพุทธรูป กุฏิพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนด้วย พื้นที่สะอาดกว้างขวาง ดูแล้วร่มเย็นมาก เหมาะสำหรับการนั่งสวดมนต์ปฏิบัติธรรมสำหรับนักแสวงบุญ หรือผู้ที่ใฝ่หาความสงบ ตลอดตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายจุด เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ มีที่ให้นั่งพักสำหรับความอ่อนล้าระหว่างทางเดินเป็นระยะ
ถ้าเดินมาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีลักษณะแปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้าย ๆ กับพระธาตุอินทร์แขวนที่พม่า คือ เป็นหินแยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่ แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่อย่างได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา
ในเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 จะเป็นจุดชมวิวิที่สวยที่สุด ตลอดทางเดินจะเป็นหน้าผายื่นออกมาทำให้ในบางครั้งเวลาเดินต้องเบี่ยงตัวออกมาเล็กน้อย โดยแต่ละจุดก็จะมีชื่อของหน้าผาที่แตกต่างกัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ในช่วงฤดูหนาวจะมีทะเลหมอกลอยอยู่รอบ ๆ ยอดเขา ทำให้เหมือนอยู่บนสวรรค์
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตคือ มีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ มีน้ำขังอยู่เกือบตลอดปี
ในส่วนชั้นที่ 7 จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งไม้และรากไม้เดินลำบาก แถมยังมีป้ายบอกให้ "ระวังงู" ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากบนยอดภูแห่งนี้ด้วย ควรใช้อีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่ก็จะมาบรรจบกันด้านบนชั้น 7 หรือดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม่ทึบธรรมดา มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่
สำหรับทางไป วัดภูทอก ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 222 ไปทางอำเภอศรีวิไล มีป้ายบอกทางเป็นระยะ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร