น่ารักสุดๆ
|
|
« เมื่อ: สิงหาคม 17, 2011, 01:39:38 PM » |
|
ระวัง!ฟองสบู่ทองคำ ธปท.เตือนรับมือวิกฤติโลก
ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะและภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางไร้เสถียรภาพในสหรัฐฯและยุโรป จนนำมาสู่การถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ซ้ำยังเกิดความหวาดผวาจากข่าวลือที่ว่าฝรั่งเศสอาจเป็นประเทศต่อไปที่จะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือลง
ปัจจัยเหล่านี้ได้ผลักดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกทะยานปรับตัวขึ้นมาทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า กลายเป็นกระแส “ตื่นทอง” ลุกลามไปทั่วโลก ขณะที่ร้านค้าทองย่านเยาวราชของไทยก็คึกคักวุ่นวาย ผู้คนแตกตื่นกำเงินมาต่อคิวรอซื้อทองคำกันตั้งแต่เช้ามืดยันดึกดื่น
โดยราคาทองคำในตลาดโลกได้พุ่งทะยานขึ้นมาทำสถิติใหม่ที่ระดับ 1,814 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเป็นบาทละ 25,500 บาท แต่แม้ระหว่างทางจะถูกเทขายทำกำไรออกมา กดราคาทองคำลงมาแกว่งตัวในระดับ 1,733 เหรียญสหรัฐฯก็ตาม ก็ยังไม่มีกูรู หรือผู้รู้คนใด สามารถทำนายได้ว่า ที่สุด ราคาทองคำจะวิ่งไปสะดุดหยุดลงที่ใด
แนวโน้มระยะใกล้ และไกลของราคาทองคำ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และยังจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความปริวิตกที่ว่า จะเกิดภาวะ “ฟองสบู่ทองคำ” ขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปในทุกๆ 5 นาที
ทีมเศรษฐกิจ มีโอกาสพูดคุยกับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการตื่นทองคำ กระทั่งถึงการที่เขาตัดสินใจโดดเข้าไปร่วมวงซื้อทองคำในตลาดโลกด้วย เช่นเดียวกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เมื่อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯด้อยค่าลง
ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสจับเข่าคุยกับผู้ค้าทองรายใหญ่ บุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด ผู้นำด้านการลงทุนทองคำชั้นนำ และ ธนรัชต์ พสวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอรส์ จำกัด เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาประมวลทิศทางของราคาทองคำในอนาคต เพื่อสามารถจะจับจังหวะการลงทุนได้อย่างแม่นยำ
กระนั้นก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ทุกการลงทุน มีความเสี่ยง!!
นายประสาร กล่าวว่า ในช่วงนี้นักลงทุนทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการขายสินทรัพย์ที่มองว่ามีความเสี่ยงสูงออกมาทั้งในประเทศพัฒนา และประเทศเกิดใหม่ ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก และมีการขายตราสารหนี้ออกมามาก ขอถือเงินสดไว้ก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และพิจารณาว่าจะไปลงทุนที่ไหนถึงจะเหมาะสม
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังลดการลงทุนในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯลง และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง (safe haven) เช่น เงินสกุลที่มีความแข็งแกร่ง อาทิ เงินฟรังก์สวิตเซอร์แลนด์ เงินเยนญี่ปุ่น และทองคำ เพิ่มมากขึ้น
แต่เชื่อว่า “พอฝุ่นหายตลบแล้ว” เงินทุนจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นของเอเชียมากขึ้น เพราะยังเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศในกลุ่มจี 3 ซึ่งจะรวมถึงการกลับเข้ามาลงทุนตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ หากประเมินภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงต่อไป หลังจากถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก คือ
“สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส” (เอส แอนด์ พี) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี จากระดับ AAA เหลือ AA+ นั้น คาดว่าจะเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่อง และซึมยาวต่อไปอีกนาน
โดยขณะนี้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ 92-100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ ก็ไม่ได้ทำให้หนี้เก่าที่มีอยู่สูงมากลดลง แต่การก่อหนี้ใหม่คงจะทำได้ลำบากมากขึ้น เพราะสหรัฐฯจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณลง ขณะที่กระสุนด้านการเงินก็ไม่มีแล้ว เพราะตอนนี้ถ้ารวมผลจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ทำมาทั้ง 2 ครั้ง อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ถูกกดลงไปที่ติดลบ 1% แล้ว
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศจี 3 อย่างยุโรป และญี่ปุ่น ก็ยังมีปัญหา โดยในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ ต้องได้รับการช่วยเหลือให้สามารถชำระหนี้ได้ และมีอีกหลายประเทศที่กำลังมีปัญหาลุกลาม เช่น โปรตุเกส สเปน ล่าสุดเป็นอิตาลี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหภาพยุโรป
ส่วนญี่ปุ่น การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงถึง 220% ของจีดีพี
สถานการณ์ดังกล่าวมองได้ว่าในอีกหลายปีข้างหน้า ประเทศเหล่านี้จะยังมีปัญหา เพราะในขณะนี้ไม่เหลือแรงกระตุ้นทั้งภาคการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น เศรษฐกิจโลกในฝั่งโลกตะวันตกจะชะลอตัวต่อไปอีกระยะ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกด้วย
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่าโลกเริ่มเห็นทิศทางของความอ่อนแอของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางประเทศในเอเชีย ทยอยปรับลดการถือครองสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯลง
สำหรับ ธปท.นั้น ได้ดำเนินการในทิศทางเดียวกันนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยได้ลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลงมาเหลือประมาณ 50% ของทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ โดยเปลี่ยนไปถือเงินสกุลอื่นๆ ที่มีความมั่นคง รวมทั้งลงทุนในเงินสกุลหยวนของจีน ซึ่งคาดว่าจะมีการค้าขายแลกเปลี่ยนมากขึ้นในช่วงต่อไป ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ทยอยลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น โดยคงสัดส่วนการถือครองให้อยู่ในระดับ 3% ของทุนสำรองทางการ
นับตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ซื้อทองคำเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 30 ตัน ทำให้มีทองคำในทุนสำรองในขณะนี้อยู่ที่ 130 ตัน
นายประสาร กล่าวว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนขณะนี้ ถือเป็นความท้าทายสำหรับแนวนโยบายการคลัง รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจเอกชนและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
โดยในส่วนของความท้าทายของนโยบายการคลังนั้น รัฐบาลควรจะนำปัญหาหนี้สินของประเทศอื่นมาเป็นบทเรียน โดยจะต้องรักษาวินัยทางการคลัง เพราะแม้ขณะนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ 41% ของจีดีพี ห่างจากกลุ่มจี 3 มาก แต่ด้วยแนวโน้มภาวะผูกพันต่างๆที่เพิ่มขึ้นทำให้หนี้สาธารณะสูงกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพีได้
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่โลกมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ในช่วงที่ประเทศไม่ได้ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก นโยบายการคลังควรจะค่อยๆปรับสู่สมดุล ไม่ควรต้องเปลืองกระสุนไปโดยสิ้นเปลือง
โดยจากวิกฤติของสหรัฐฯและยุโรป จะเห็นว่าเป็นเพราะขาดกระสุนในยามที่จำเป็น เพราะเงินในคลังไม่มี นโยบายการเงินดอกเบี้ยต่ำไปแล้ว หมดเครื่องมือแก้ปัญหา ดังนั้น ไทยต้องเตรียมกระสุนให้มากพอ หากข้างหน้าเกิดปัญหาขึ้นมาเราจะได้เตรียมพร้อม
“เราจึงอย่าเผลอ แม้จะมีภูมิคุ้มกันเพดานหนี้ไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าหากพลาดแล้วจะคุมที่เพดานดังกล่าวได้ เพราะไทยเป็นประเทศเล็ก หากเสียความเชื่อมั่นในเรื่องนโยบายการคลังและหนี้สาธารณะ ผลกระทบจะรุนแรงมากกว่ายุโรปอย่างมาก”
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจไทย จะเกิดขึ้นใน 3 ด้าน คือเรื่องต้นทุน ที่เอกชนจะต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น เรื่องแรกมาจากความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก ส่งผลให้เงินยังคงไหลเข้าเอเชีย และไทยต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้
ขณะที่ต้นทุนที่สอง คือ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นหรือทรงตัวในระดับสูง
ส่วนต้นทุนที่ 3 คือ ต้นทุนทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย ซึ่งภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูง ทั้งจากกำลังซื้อ ด้านอุปทาน และการคาดการณ์ในอนาคต ธปท.จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อต่อไปอีกระยะ
ฉะนั้น ความท้าทายในช่วงนี้ ทั้งภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะต้องปรับตัว ช่วยกันไม่ให้เกิดรูรั่วในเรือสำเภาของเศรษฐกิจไทย.
บุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออสสิริส จำกัด
ขณะนี้เงินทุนทั่วโลกกำลังมองหาสินทรัพย์หรือแหล่งลงทุนที่มีความปลอดภัย จึงได้ไหลมาที่ทองคำ เพราะสถานะทองคำขณะนี้ เหมือนเป็นสกุลเงินที่สำคัญของโลกและมีความมั่นคงสูง
นักลงทุนทั่วโลกจึงแห่กันเข้าซื้อทองคำและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวกับทองคำทุกชนิด จึงทำให้ราคาทองคำในทุกประเทศทั่วโลกสูงขึ้นทำนิวไฮทั้งหมดไม่ว่าจะซื้อด้วยสกุลเงินใด
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่เกิน 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ทองคำ คือช่วงที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ เมื่อครั้งที่ “เลห์แมนบราเธอร์ส” ได้ล่มสลาย กับวิกฤติครั้งล่าสุดนี้
โดยเมื่อคราวเลห์แมนล่มสลายนั้น ผู้คนได้แห่ซื้อทองคำจนเกิดภาวะตื่นทอง แต่เมื่อแก้ปัญหาได้และเศรษฐกิจดีขึ้น คนก็กลับมาซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ขณะที่ราคาทองก็ราคาลง
แต่วิกฤติครั้งนี้เป็นปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลที่ไม่สามารถจะปรับลดในชั่วข้ามคืนได้ ต้องใช้เวลานานเป็นปี และธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ต้องยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก โดยกดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปอีก ซึ่งเป็นผลบวกต่อราคาทองคำ
เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับขึ้นเฉลี่ยต่อปีไม่ต่ำกว่า 10% แต่เฉพาะปีนี้ ขนาดยังไม่ถึงสิ้นปี ราคาทองคำขึ้นไปแล้ว 30% ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ แต่ในรูปเงินบาทราคาขึ้น 20% เพราะค่าเงินบาทแข็งขึ้น ทำให้ซื้อทองคำได้ในราคาถูกลงจากค่าเงิน
นายบุญเลิศ ตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนทองคำช่วงนี้ว่าการปรับขึ้นของราคาทองในรอบนี้ นักลงทุนและประชาชนต่างเฮโลเข้ามาซื้อทอง ชนิดที่เรียกว่า “ยิ่งขึ้นยิ่งซื้อ” ทั้งที่ปกติเมื่อราคาทองขึ้น นักลงทุนโดยเฉพาะพวกเก็งกำไรจะต้องนำทองออกมาขาย แต่ครั้งนี้กลับไม่ขาย
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาทองโลกจะขึ้นทุกวัน แต่การแกว่งตัวในระหว่างวันมีความผันผวนสูงมาก มีการกระชากขึ้นลงวันละเป็น 10 รอบ และราคาขึ้นลงแต่ละครั้ง 30-50 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ราคาสูงสุดกับต่ำสุดในแต่ละวันต่างกันร่วม 80-100 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ทำให้สมาคมผู้ค้าทองคำของไทยต้องประกาศปรับราคาทองขึ้นลงวันละหลายรอบ
ทั้งนี้ อยากจะแนะนำนักลงทุนให้ติดตามข้อมูลข่าวสารที่มีผลกับราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการตัดสินในการลงทุน เพราะราคาทองที่ผันผวนขนาดนี้ ถือว่ามีความเสี่ยงมาก
มีคำถามว่าราคาทองที่ขึ้นร้อนแรงอย่างนี้จะยังลงทุนได้หรือไม่ ทองคำจะเกิดภาวะฟองสบู่หรือไม่ นายบุญเลิศ อธิบายว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าราคาทองจะกลายเป็นฟองสบู่ทองคำหรือไม่ เพราะเหตุผลที่ทำให้ราคาทองคำทะยานขึ้นครั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานหลักจริงๆ
แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีแนวโน้มชัดเจนว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย จำเป็นต้องซื้อทองคำเข้ามาอยู่ในทุนสำรองมากขึ้นและเร่งลดสัดส่วนการถือเงินและพันธบัตรของสหรัฐฯลง เพราะสินทรัพย์ในสกุลเงินสหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเรื่อยๆ
แต่หากมีข่าวหรือข้อมูลที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป กองทุนเก็งกำไรที่เข้าซื้อทองคำจำนวนมากก็คงขายทำกำไรและทำให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับลงได้
อย่างไรก็ดี อยากฝากเตือนนักลงทุนให้มีวินัยในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (โกลด์ฟิวเจอร์ส) ต้องตั้งเป้าหมายในใจไว้ก่อนเข้าตลาด หากได้กำไรตามเป้าก็ต้องขายปิดสถานะ ในทางตรงกันข้าม หากมองทิศทางผิดก็ต้องรีบมอบตัว ยอมรับความจริง
“น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือเข้าไปขวาง กระแสตื่นทอง หากคนตามกระแสดีๆมีโอกาสได้กำไรงามๆ แต่คนสวนกระแสก็มีโอกาสเจ็บตัวได้”.
ธนรัชต์ พสวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอรส์ จำกัด
ภาวะราคาทองคำในขณะนี้มีความผันผวนมาก เฉลี่ยแล้วราคาทองคำตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองแท่งในประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 500 บาท ต้องเรียกได้ว่าเป็นภาวะตื่นทอง เข้ามาแย่งซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
โดยส่วนตัวยังมองว่าแนวโน้มราคาทองคำมีโอกาสขึ้นต่อ หากมีข่าวใหม่ๆเข้ามาสนับสนุน มองในช่วงนี้ถ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นน่าจะไปได้ถึง 1,850 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 150 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ภายในสัปดาห์เดียว
แต่คาดว่าเมื่อไรที่ราคาทองคำปรับฐานลงมา จะมีความต้องการซื้อทองคำกลับเข้ามา ในระยะสั้นมองแนวรับที่ 1,750 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ถ้าหลุดแนวรับที่ 1,750 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,720 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์
“ในส่วนของฮั่วเซ่งเฮงได้ปรับประมาณการราคาทองคำสิ้นปีนี้มาอยู่ที่ 1,850 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ และสิ้นปี 2555 มองราคาทองคำที่ 2,050 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ถ้าเป็นราคาทองแท่งในประเทศจะอยู่ที่ประมาณบาทละ 26,200 บาท ในสิ้นปีนี้ และ 29,000 บาทตามลำดับในสิ้นปีหน้า”
ทั้งนี้ ทองคำยังมีปัจจัยบวกอยู่มาก ตราบที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่มีความแน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาหนี้ในยุโรปคาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปตลอดทั้งปีนี้
นายธนรัชต์ กล่าวว่า จากราคาทองโลกขาขึ้น ทำให้คนไทยตื่นทองมาก ตามร้านทองจะมีลูกค้าต่อคิวซื้อทองวันหนึ่งประมาณ 2,000 ราย อย่างที่ร้านทองฮั่วเซ่งเฮงได้มีคนมารอเข้าคิวซื้อทองตั้งแต่ยังไม่เปิดร้าน ส่วนนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายทองคำแท่งผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเปิดให้ซื้อขายถึงเที่ยงคืนนั้น ได้มีแรงซื้อเข้ามาหนาแน่น พนักงานต้องอยู่ถึงตี 2 ทุกคืน เฉลี่ยมูลค่าการซื้อขายทองคำต่อวันของฮั่วเซ่งเฮงในช่วงนี้สูงถึง 4,500-5,000 ล้านบาท บางวันที่ราคาทองผันผวนสูงขึ้นมา มูลค่าการซื้อขายถึง 8,000-9,000 ล้านบาท ร้านทองทำทองมาขายไม่ทัน จนต้องจ่ายเป็นตั๋วทองให้แทน บางรายยังไม่ทันนำตั๋วทองมาเปลี่ยนเป็นทองแท่ง พอเห็นราคาขึ้นก็ขายทำกำไรเอาเงินสดออกไป
อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวคาดการณ์ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะทะลุ 2,000 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ น่าจะเห็นในปีหน้า ถ้าเป็นราคาทองแท่งในประเทศจะอยู่ที่บาทละ 28,500 บาท โดยคิดที่ 29.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จึงเชื่อว่าราคาทองถึงสิ้นปีนี้ไม่น่าจะถึง 30,000 บาท แต่ไม่แน่เหมือนกันว่า หากเจอเหตุการณ์ตื่นทองเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกอาจมีโอกาสเห็น 2,000 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์ ก็เป็นไปได้
“ที่หลายคนอยากรู้ว่า ราคาทองคำในเวลานี้ซื้อได้ไหม ยอมรับว่าเป็นราคาที่แพงมากๆและขึ้นมาอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย หากต้องการซื้ออาจรอให้ราคาทองแท่งในประเทศปรับลดลงมาประมาณ 200-300 บาทก่อน ยังไม่ต้องไล่ซื้อตาม”
นายธนรัชต์ กล่าวว่า จากวิกฤติของสหรัฐฯ หลายคนวิตกว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งมีทองคำมากสุดในโลก จะขนทองคำที่เก็บไว้ออกมาขายเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจนั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีการขายออกมาแน่ เพราะสหรัฐฯได้เพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ
“แต่สมมติว่าสหรัฐอเมริกามีการขายทองคำออกมาจริง คงมีผลต่อราคาทองคำในทางลบแน่นอน”.
ทีมเศรษฐกิจ
ไทยรัฐออนไลน์ โดย ทีมเศรษฐกิจ
|