อย.สั่งปลดโฆษณา รังนก ห้ามใช้ แท้ 100%
อย.สั่งปลดโฆษณารังนกแท้ 100% ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ ส่วนการปรับปรุงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ยังไม่พิจารณา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้สมาคมโฆษณาฯ มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสาธารณะ พร้อมจับมือสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล พัฒนาฉลากสินค้าอาหารที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค ขู่ฟ้องศาลหากไม่เร่งปรับปรุงข้อความบนฉลาก
กรณีป้ายโฆษณาเขียนข้อความ ให้ความรู้ประชาชนว่า "ผลงานวิจัย ม.มหิดล รังนกสำเร็จรูปชื่อดังใส่รังนกแท้แค่ 1% เศษ" ติดตั้งบริเวณด่านเก็บเงินทางด่วน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วตามที่นายเธียร ลิ้มธนากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย จำกัด เจ้าของป้ายโฆษณาดังกล่าว ได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการโฆษณารังนกแท้ 100% ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมพิจารณาทบทวนข้อความโฆษณา เพื่อป้องกันผู้บริโภคสับสนและเข้าใจผิด และจะมอบให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลากแจ้งไปยังผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อให้ปรับ ปรุงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในนามตัวแทนคณะกรรมการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน แถลงการทักท้วงมติของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ที่ได้วินิจฉัยป้ายโฆษณาดังกล่าวว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โฆษณาอย่างร้ายแรง และบิดเบือนความจริงอันทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อผู้ผลิตเครื่องดื่มรังนก สำเร็จรูป โดย น.ส.สารีกล่าวว่า การวินิจฉัยของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยถือว่าไม่มีความยุติธรรม และไม่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคที่พึงมีสิทธิได้ รับรู้ความจริงจากการโฆษณาสินค้าต่างๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือท้วงติงไปยังสมาคมโฆษณาฯ ขอให้ทบทวนผลการพิจารณาอีกครั้ง
"การจัดทำป้ายโฆษณาให้ความรู้แก่ผู้ บริโภคของนายเธียร ลิ้มธนากุล ถือว่ามีเจตนาทำเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยไม่หวังผลตอบแทนทางการค้าใดๆ และไม่เข้าข่ายกระทำผิดจรรยาบรรณตามที่สมาคมโฆษณาฯ กล่าวอ้าง วันนี้คณะกรรมการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหลายภาคส่วน 16 องค์กร มีมติแสดงจุดยืนให้สมาคมโฆษณาฯ รีบแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้บริโภคโดยด่วน" น.ส.สารี กล่าว
เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อพัฒนาฉลากสินค้าที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค คือ ใช้ภาษาไทยที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ก่อให้เกิดความสับสน ไม่มีการโฆษณาบนฉลาก การใช้ข้อความว่ารังนกแท้ 100% จากถ้ำธรรมชาติ ก็ถือว่าเป็นการโฆษณา เพราะ อย.ไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผู้ผลิตรังนกได้นำมาจากถ้ำธรรมชาติจริงหรือ ไม่ จากนี้ไปจะมีการเฝ้าจับตาการทำงานของ อย. ว่าจะแก้ไขปรับปรุงข้อความบนฉลากสินค้าอย่างไร นอกจากนี้ จะมีการจัดเวทีวิชาการเรื่องฉลากอาหารที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค โดยเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในวันที่ 29 สิงหาคมนี้
"ขณะ นี้เราต้องคอยดูการทำงานของ อย. ว่าจะสั่งให้ผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อปรับปรุงฉลากอย่างไร แต่หากยังปล่อยให้มีการโฆษณาเกินจริงบนฉลาก ก็จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลคดีผู้บริโภคต่อไป" น.ส.สารีเผย
น.ส.ทิพ วัลย์ ปริญญาศิริ ผอ.กองควบคุมอาหาร อย. กล่าวว่า การใช้ข้อความว่ารังนกแท้ 100% ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน ขณะนี้ได้แจ้งไปยังผู้ผลิตรังนกทุกยี่ห้อระงับการโฆษณาโดยจะต้องตัดข้อความ ว่า 100% และอนุญาตให้ใช้คำว่ารังนกแท้ได้อย่างเดียวเท่านั้น โดยทราบว่าผู้ผลิตรังนกได้เริ่มปลดป้ายโฆษณาสิ่งพิมพ์ทุกประเภท เช่น คัตเอาต์ บิลบอร์ด รวมทั้งการโฆษณาทางโทรทัศน์ ส่วนการปรับปรุงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์รังนก ขณะนี้ยังไม่ส่งเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการว่าด้วยฉลาก อย.พิจารณา เพราะต้องใช้เวลาและอยู่ระหว่างนัดประชุม
[22 กรกฎาคม] รังนกแท้ 100% แท้จริงมีผสมแค่ 1% จริงหรือ !?
หลังจากที่มีผู้ร้องเรียนถึงการโฆษณาของผลิตภัณฑ์รังนกที่ระบุว่า เป็น รังนกแท้ 100 % ทั้ง ๆ ที่แท้มีแค่ 1% เศษ อีกทั้งยังใช้คำกำกวม และให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนลงบนฉลากสินค้า แต่ผู้ร้องเรียนกลับถูกผู้ประกอบการฟ้องกลับ เหตุเพราะไปลดความน่าเชื่อถือของตัวสินค้านั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ทำการตรวจสอบ 4 แบรนด์ดังในตลาด ซึ่งพบว่า มีแบรนด์ดังถึง 3 แบรนด์ ที่เป็นไปตามข้อร้องเรียน จึงได้จับมือกับผู้ร้องเรียนเดินหน้าสู้คดีให้ถึงที่สุด พร้อมร้อง อย. ให้ทบทวนการโฆษณาดังกล่าว
วานนี้ (21 กรกฎาคม) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก ได้แถลงข่าวผลการดำเนินงานคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารและเฝ้าระวังโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อวิทยุชุมชุนและเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)
จากกรณีที่ นายเธียร ลิ้มธนากุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโฆษณารายหนึ่ง ได้ติดตั้งป้ายมีข้อความว่า "ผลวิจัย ม.มหิดล รังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1% เศษ" แต่ถูกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยกล่าวหาว่ากระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา ซึ่ง นายเธียร เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทำไปเพื่อเตือนผู้บริโภค ไม่มีเจตนาลดความน่าเชื่อถือธุรกิจรังนก มูลนิธิจึงได้รับเรื่องไว้ แล้วเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายทั่วไปในตลาดจำนวน 4 ตราสินค้า พบว่าข้อความที่ นายเธียร ได้นำเสนอบนป้ายโฆษณาเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏชัดเจนจากฉลากบนผลิตภัณฑ์รังนก
ทางด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า หลังจากการศึกษาข้อมูลจากผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป 4 ตราสินค้า พบว่า จำนวน 3 ใน 4 ของตราสินค้า ได้ระบุที่ฉลากว่า มีรังนกแห้งเป็นส่วนประกอบจริงแค่ 1% เศษ เท่านั้น ทางมูลนิธิจึงเป็นกำลังใจให้กับนายเธียร และพร้อมที่จะทำการสนับสนุนเพื่อสู้คดีในกรณีที่นายเธียรถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการบริษัทผลิตรังนก
ขณะที่ นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีรังนกสำเร็จรูปนี้ แสดงส่วนประกอบพบว่า รังนกแห้งที่ 1% เศษ และส่วนประกอบอื่น ๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ตราสินค้า ไม่มีตราใดที่ระบุส่วนผสม 100% ทำให้เกิดคำถามคือ แล้วส่วนประกอบที่เหลือที่ขาดหายไปนั้น มันคืออะไร สภาพวุ้นในสินค้าแต่ละขวดเป็นส่วนประกอบของอะไร
นอกจากนี้ การติดตราฉลากสินค้ายังก่อให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภค เพราะใช้คำกำกวม เช่น คำว่า "รังนกแท้" หรือ คำว่า "รังนกแท้ 100% จากถ้ำธรรมชาติ" ขณะที่บางตราสินค้าใช้คำว่า "เครื่องดื่มรังนก" จากฉลากดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ข้อมูลที่ได้เห็นนั้นได้รับรองจากทาง อย. แล้ว ซึ่งทาง อย. ควรต้องชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้คำดังกล่าวบนฉลากได้หรือไม่ ซึ่ง นายพชร ได้ขอแจ้งและเรียกร้องให้ทาง อย. ทบทวนการอนุญาตให้ใช้ข้อความเหล่านี้บนฉลากเพราะอาจจะทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค และให้ยกเลิกการโฆษณาบนฉลากอาหารเหล่านี้ พร้อมปรับปรุงฉลากใหม่ที่ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง
ทางด้าน รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล เผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ส่วนประกอบสารอาหารในผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปไว้นานแล้ว บนฉลากเขียนไว้ว่ามีรังนก 1% เศษ เมื่อตรวจสอบในทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า รังนก 1 ขวดมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด หรือไข่นกกระทา 1/4 ฟอง จึงอยากให้ผู้บริโภคจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่
งานนี้ทางผู้ประกอบการจะว่าอย่างไร แล้วรังนกแท้จริง ๆ นั้นมีอยู่หรือไม่ หรือเป็นแค่การโฆษณาที่หลอกลวงประชาชนเพียงเท่านั้น