ตามรอยอาณาจักรโบราณ...จักรวรรดิขแมร์
กรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชากลับมาเป็นประเด็นร้อนในช่วงปีสองปีมานี้ และเรื่องบานปลายกระทั่งทางกัมพูชายื่นร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ.2505 ที่ครั้งนั้น คณะผู้พิพากษามีมติ 9 ต่อ 3 ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา จนมาครั้งนี้ ทางฝ่ายไทยและกัมพูชาก็ยังมีปัญหาเรื่องของการปักปันเขตแดนในพื้นที่ทับซ้อนที่เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันขึ้นมาอีก ทำให้สถานการณ์ชายแดนเป็นไปอย่างตึงเครียด
หากย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนี้ ต้องบอกว่า มีความเกี่ยวข้องกันมาอย่างยาวนาน และเคยผลัดกันเรืองอำนาจในแต่ละช่วงสมัย อย่างที่เราทราบดีอยู่แล้วว่า ในอดีต ยุคที่เรืองอำนาจมากที่สุดของสยามประเทศ ก็คือสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ครองความเป็นราชธานีมาถึง 417 ปี และยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคสุวรรณภูมิ ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาเอง ยุคที่เรืองอำนาจมากที่สุดก็คือ ยุค "จักรวรรดิขแมร์" หรือ "อาณาจักรขอม" เพราะสามารถเผยแผ่อาณาเขตไปได้เกือบทั่วทั้งคาบสมุทรอินโดจีน
แผนที่จักรวรรดิขแมร์ประมาณ พ.ศ. 1443 (สีแดง)
วันนี้ เราลองไปตามรอยความสัมพันธ์ของ "จักรวรรดิขแมร์" กับ "กรุงศรีอยุธยา" กันดูว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเช่นไร
จักรวรรดิขแมร์ หรืออาจเรียกว่า อาณาจักรเขมร หรือ อาณาจักรขอม เป็นหนึ่งในอาณาจักรโบราณที่ครองความยิ่งใหญ่ในช่วงปี พ.ศ.1345-พ.ศ.1974 ซึ่งถือเป็นยุคที่ 3 ของประวัติศาสตร์กัมพูชา โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็นจักรวรรดิขแมร์นั้น อาณาจักรฟูนันซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ครอบคลุมทั้งพื้นที่ประเทศกัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ได้ครองความยิ่งใหญ่ในแถบอินโดจีนมาก่อนในราวพุทธศตวรรษที่ 6 (พ.ศ.611 – พ.ศ.1093 ) และได้ขยายอาณาเขตไปยังแคว้นเจนฬะ (ปัจจุบันคือที่ตั้งประเทศกัมพูชา) ก่อนที่ในปี พ.ศ.1093 แคว้นเจนฬะจะได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่อาณาจักรฟูนัน
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.1345 แคว้นเจนฬะได้เสื่อมอำนาจลง จักรวรรดิขแมร์ เริ่มครองความยิ่งใหญ่แทนที่แคว้นเจนฬะ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ประกาศเอกราชจากแคว้นศรีวิชัย และรวบรวมจักรวรรดิขแมร์ทางใต้ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา ทำให้สมัยนั้นจักรวรรดิขแมร์ มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งกัมพูชา พื้นที่บางส่วนของประเทศไทย ลาว รวมทั้งบางส่วนของเวียดนามในปัจจุบันอีกด้วย นับเป็นอาณาจักรที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานั้น และมีการย้ายเมืองหลวงถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาที่ครองอำนาจ โดยเมืองหลวงแรกคือ เมืองหริหราลัย ช่วงปี พ.ศ.1345-1432 จากนั้นย้ายไปเมืองยโสธรปุระ ในปี พ.ศ.1432 ต่อมาในปี พ.ศ.1471 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 จึงย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองเกาะแกร์ และเป็นเมืองหลวงอยู่จนปี พ.ศ.1487 จึงได้ย้ายกลับมาที่ยโสธรปุระอีกครั้งจนถึงปี พ.ศ.1974
ในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เรื่อยมา จักรวรรดิขแมร์ เรืองอำนาจเป็นอย่างมาก มีการสร้างศาสนาสถานรูปแบบขอม และฮินดู ตามศาสนาที่นับถืออยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะมรดกโลกที่สำคัญก็คือ นครวัด นครธม รวมทั้งปราสาทหินต่าง ๆ มากมาย เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพ และบูชาเทพเจ้า
ต่อมา จักรวรรดิขแมร์ ในช่วงยุคกลางเริ่มอ่อนกำลังลง ประเทศราชเริ่มแยกตัวเป็นรัฐอิสระมากขึ้น รวมทั้งยังเสียดินแดนบางส่วนให้กับอาณาจักรสุโขทัยที่เรืองอำนาจขึ้นมา ขณะที่ประชาชนก็เริ่มหันไปนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแทนศาสนาฮินดู ทำให้การก่อสร้างศาสนสถานที่อลังการสิ้นสุดลงตามไปด้วย โดยเปลี่ยนมาเป็นการสร้างวัดวาอาราม และหล่อพระพุทธรูปแทน
แผนที่อาณาจักรอยุธยาประมาณ พ.ศ. 1953 (สีฟ้าเข้ม)
จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 19 "กรุงสุโขทัย" เริ่มเสื่อมอำนาจลง ขณะที่ "กรุงศรีอยุธยา" เริ่มมีอำนาจมากขึ้น จนสามารถขยายอาณาเขตไปทั่วทุกทิศ ก่อนที่ในปี พ.ศ.1896 กรุงศรีอยุธยาจะได้เข้าตีเมืองยโสธรปุระอันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิขแมร์ และกวาดต้อนประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ในที่สุดชาวกรุงศรีอยุธยาก็สามารถตีเมืองยโสธรปุระแตก เป็นเหตุให้ "จักรวรรดิขแมร์" ตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยานับแต่นั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม แม้จักรวรรดิขแมร์จะตกเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ยังไม่ล่มสลายไปเสียทีเดียว เพราะยังดำรงความเป็นศูนย์กลางการปกครองของกัมพูชามาได้จนถึงปี พ.ศ.1974 ก่อนที่จักรวรรดิขแมร์จะสิ้นสุดลงจนไม่สามารถครองความเป็นศูนย์กลางการปกครองได้อีกต่อไป เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ส่งทัพบุกมาตีเมืองยโสธรปุระอีกครั้งในปี พ.ศ.1974 ทำให้กษัตริย์เขมรทรงเลือกที่จะหลบหนี และย้ายราชธานีไปตั้งในที่ใหม่ มีชื่อว่า พนมเพ็ญจัตุรมุขจะรามเชียม หรืออาณาจักรจตุรมุข ซึ่งก็ยังมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา และนับเป็นการสิ้นสุดยุคจักรวรรดิขแมร์อันเกรียงไกรอย่างแท้จริง
หลังจากยุคจักรวรรดิขแมร์ มาจนถึงอาณาจักรจตุรมุข อาณาจักรละแวก จนถึงยุคมืดของกัมพูชา อาณาจักรเหล่านี้ ก็ยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกรุงศรีอยุธยา ไล่มาจนถึงกรุงธนบุรี และเลยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาเกิดสงครามอานามสยามยุทธในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้กัมพูชากลายเป็นรัฐอารักขาระหว่างสยามและญวณ ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา