การเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม
การเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเกิดดินถล่มบ่อยครั้งมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานบนที่ลาดเชิงเขา ประกอบกับไม่มีรากไม้ยึดเกาะหน้าดินทำให้ดินภูเขาที่ชุ่มน้ำอยู่แล้ว ไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้จนพังถล่มและเลื่อนไหลลงมา สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะข้อสังเกตและวิธีปฏิบัติกรณีเกิดดินถล่ม ดังนี้
ลักษณะของพื้นที่เสี่ยงเกิดดินถล่ม อยู่บริเวณภูเขา ใกล้ลำห้วย มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขามีรอยแยกบนพื้นดินบนภูเขา อยู่บนเนินหน้าหุบเขา และเคยมีร่องรอยการเกิดดินโคลนถล่ม มีกองหินเนินทรายปนโคลนและต้นไม้ในลำห้วยใกล้หมู่บ้าน รวมถึงพื้นห้วยมีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่ปนกันตลอดท้องน้ำ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม รวม 51 จังหวัด 323 อำเภอ 1,056 ตำบล 6,450 หมู่บ้าน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ดินโคลนถล่มรุนแรงมากขึ้นเกิดจากปัจจัย 5 ด้าน ได้แก่
1 สภาพธรณีวิทยา เป็นหินเนื้อแน่น เมื่อเกิดการผุกร่อน ทำให้เกิดชั้นดินหนา
2 สภาพภูมิอากาศ เกิดฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน
3 สภาพภูมิประเทศ เป็นภูเขาและหน้าผาลาดชัน
4 การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยการตัดถนนผ่านไหล่เขาหรือภูเขาลาดชัน
5 การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยปลูกพืชชนิดเดียวบนที่ลาดเชิงเขา เช่น ยางพารา ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งพืชชนิดนี้มีรากตื้นและเกาะชั้นดินที่มีความลึกระดับเดียว ทำให้เสถียรภาพของชั้นดินลดลง
การเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม
สิ่งบอกเหตุก่อนเกิดดินถล่ม มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร น้ำในแม่น้ำมีสีขุ่นข้นและระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีต้นไม้ขนาดเล็กไหลปนมากับน้ำ มีเสียงดังผิดปกติบริเวณภูเขา ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มขึ้นได้ ให้เตรียมอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที
การอพยพหนีภัยดินถล่ม ให้อพยพไปตามเส้นทางที่พ้นจากแนวการไหลของดินถล่ม ขึ้นที่สูงหรือสถานที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีแนวการไหลของดิน และเส้นทางที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก หากจำเป็นต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ให้ใช้เชือกผูกลำตัวแล้วยึดติดไว้กับต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากพัดจมน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้หรือหินที่ไหลมาตามน้ำจนจมน้ำเสียชีวิตได้
หลังเกิดดินถล่ม ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่เกิดดินโคลนถล่มหรือบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอาจเกิดการพังทลายซ้ำ กำหนดเขตปลอดภัย โดยติดตั้งป้ายเตือนว่าพื้นที่ใดปลอดภัยและพื้นที่ใดเสี่ยงต่อการเกิดดินโคลนถล่มซ้ำพร้อมเร่งระบายน้ำออกจากบริเวณที่ดินถล่มให้มากที่สุดโดยทำทางเบี่ยง เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงมาสมทบเข้าไปในมวลดินเดิมที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว
การหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ การปฏิบัติตนตามประกาศแจ้งเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากดินโคลนถล่ม