TARADTHONG.COM
พฤศจิกายน 28, 2024, 06:43:59 AM *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: ตลาดทองดอทคอม
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

Copy Code


หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ‘รอยเตอร์’ วิจารณ์ ‘การศึกษาไทย’ ไม่ปฏิรูปใหญ่จะทำประเทศหมดเสน่ห์ดึงดูดเงินลงทุน  (อ่าน 7595 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
loveyou
Administrator
Full Member
*****

คะแนนความนิยม: 29
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 234



ดูรายละเอียด
« เมื่อ: มิถุนายน 01, 2011, 07:28:33 AM »

‘รอยเตอร์’ วิจารณ์ ‘การศึกษาไทย’ ไม่ปฏิรูปใหญ่จะทำประเทศหมดเสน่ห์ดึงดูดเงินลงทุน


สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอบทวิเคราะห์ระบบการศึกษาของไทย ระบุการศีกษาของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่ในลักษณะมองเข้าหาตัวเอง ซึ่งเน้นหนักให้ความสำคัญกับการท่องจำและการอ่านออกเขียนได้ระดับพื้นฐาน โดยที่พวกนักวิจารณ์ชี้ว่า ถ้าหากไม่ปรับปรุงยกเครื่องครั้งใหญ่เพื่อให้ระบบการศึกษาก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ประเทศไทยก็จะเป็นผู้พ่ายแพ้ในการการชิงชัยกับพวกคู่แข่งแถบเอเชียเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ชิ้นนี้ซึ่งเขียนโดย อัมบิกา อาฮูจา (Ambika Ahuja) บอกว่า ขณะที่ไต้หวัน, สิงคโปร์, จีน และอินเดีย ทุ่มเทเงินงบประมาณนับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยให้ขึ้นสู่ระดับโลก, การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ, และทักษะความชำนาญด้านต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง ประเทศไทยกลับแทบไม่ได้ขยับเขยื้อนระบบการศึกษาของตนเองซึ่งได้ดำรงสภาพเช่นนี้มาเป็นสิบปีแล้ว โดยที่ไทยยังคงกำหนดจุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของการศึกษาเอาไว้ที่การสงวนรักษาอัตลักษณ์แห่งชาติ
       
       รอยเตอร์ชี้ว่า ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้เกิดในอังกฤษและสำเร็จการศึกษาจากออกซฟอร์ด ต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพดังกล่าวนี้ ด้วยแผนการปฏิรูปการศึกษาระยะเวลา 6 ปีที่ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 371,500 ล้านบาท (ราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคณะรัฐมนตรีของเขาอนุมัติไปแล้วเมื่อตอนต้นเดือนนี้ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเป็นโขยงที่มุ่งจะใช้เรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดหมายกันว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างเข้มข้น
       
       อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ระบุว่า เอาเข้าจริงแล้วพวกผู้เชี่ยวชาญมองกันว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินงบประมาณ และยกตัวอย่างคำพูดของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กล่าวว่า กรอบความคิดความเชื่อของหลักสูตรการศึกษาไทยในเวลานี้ เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากยุคสร้างชาติและยุคสงครามเย็น ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตพลเมืองที่เชื่อฟังผู้ปกครองและมีลักษณะชาตินิยม เป็นระบบการศึกษาที่ “มีความเป็นลำดับชั้น, จากบนสู่ล่าง, โดยที่ขาดไร้อย่างชนิดเป็นระบบทีเดียวในเรื่องความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์”
       
       บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์เห็นว่า ระบบการศึกษาเช่นนี้ผลิตบุคลากรที่ไม่เอื้อต่อการก้าวไปข้างหน้าของไทย ในขณะที่เวลานี้ไทยกำลังพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ให้เข้าสู่พื้นที่อื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการผลิตพื้นฐาน
       
       รอยเตอร์อ้างคำพูดของซีอีโอชาวอเมริกันในบริษัทสำคัญแห่งหนึ่งที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ ที่บอกว่า “การหาคนงานซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มสาว, มีความสามารถรอบตัว, มีทักษะสูง, และพูดภาษาอังกฤษได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่ามาก ถ้าไปหาในสิงคโปร์, ไต้หวัน และจีน”
       
       นอกจากนั้น “แรงงานของไทยก็ไม่ได้มีราคาถูกเหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีต ด้วยเหตุนี้พวกตำแหน่งงานอุตสาหกรรมการผลิตพื้นฐานจึงกำลังเริ่มเคลื่อนย้ายไปที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน” ซีอีโอที่ขอสงวนนามผู้นี้กล่าว
       
       พร้อมกันนี้ รอยเตอร์ได้อ้างข้อมูลตัวเลขที่รวบรวมโดย องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ซึ่งระบุว่า ในปี 2010 ค่าจ้างแรงงานไทยตามโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่เดือนละ 263 ดอลลาร์ ตัวเลขนี้แม้ยังคงต่ำกว่าจีนซึ่งอยู่ที่ 303 ดอลลาร์ ทว่าสูงกว่า ฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ที่ 212 ดอลลาร์, อินโดนีเซียอยู่ที่ 182 ดอลลาร์, เวียดนามที่ 107 ดอลลาร์ และกัมพูชาที่ 101 ดอลลาร์
       
       ในขณะที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปการศึกษาของนายอภิสิทธิ์ บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ก็บอกว่าผลงานของฝ่ายค้านเองจัดอยู่ในสภาพกระท่อนกระแท่นไม่น่าพอใจเช่นเดียวกัน เป็นต้นว่ารัฐบาลในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปี 2001-2006 ให้คำมั่นที่จะทำให้พวกโรงเรียนรัฐบาลมีอิสระมากยิ่งขึ้น ทว่ากลับไปไม่ถึงไหนเมื่อเผชิญการต้านทานจากกระทรวงศึกษาธิการ
       
       รอยเตอร์กล่าวว่า ในตอนนี้พวกผู้นำพรรคเพื่อไทยบอกว่า พวกเขาจะเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายในด้านทรัพยากรต่างๆ ของโรงเรียน ตลอดจนในเรื่องเทคโนโลยี และทุนการศึกษา ทว่าพวกนักวิจารณ์มองว่านโยบายเช่นนี้พลาดเป้าโดยไม่ได้จับประเด็นปัญหาพื้นฐานที่สุด ซึ่งก็คือ วิธีการฝึกอบรมครู และหลักสูตรการเรียนการสอน
       
       บทวิเคราะห์ชิ้นนี้อ้างตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้จ่ายในด้านการศึกษามากที่สุดของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ โดยที่กำลังจัดสรรงบประมาณประจำปีราวๆ 20% ให้แก่การศึกษา
       
       นอกจากนั้น รอยเตอร์ยังอ้างข้อมูลของสถาบันการบริหารการพัฒนา (Institute of Management Development หรือ IMD) ซึ่งตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่บอกว่า ในปี 2009 ไทยใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นจำนวนเท่ากับ 4% ของจีดีพี สูงกว่าสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 3.1% ทว่าขณะที่สิงคโปร์ติดอันดับ 13 ในเรื่องผลงานทางด้านการศึกษา ไทยกลับอยู่ที่ 47
       
       บทวิเคราะห์ชิ้นนี้อ้างผลการวิจัยของนายดิเรก ปัทมศิริวัฒน์ แห่งสถาบันเพื่อการวิจัยประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่กล่าวว่า ขณะที่นักเรียนไทยประมาณ 71% เข้าโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา
       
       แถมการจบมหาวิทยาลัยก็ใช่ว่าจะเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ โดยรอยเตอร์อ้างการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส (Quacquarelli Symonds หรือ QS) ที่ออกมาว่า มหาวิทยาลัยไทยซึ่งได้อันดับดีที่สุดคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ยังติดเพียงอันดับ 180 ของโลก เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 23 และมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ที่ติดอันดับ 31
       
       รอยเตอร์บอกว่า ผลลัพธ์ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากสภาพการณ์เช่นนี้ก็คือ ประเทศไทยผลิตกำลังแรงงานที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษซึ่งอ่อนแอที่สุดชาติหนึ่งของโลก โดยที่ IMD จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 54 จาก 56 ประเทศทั่วโลกในเรื่องความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับชาติเอเชียด้วยกันก็อยู่ในระดับรองบ๊วย ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับ 3 และมาเลเซียได้ที่ 28
       
       บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ยังอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์หลายรายที่มองว่า การที่ไทยไม่สามารถที่จะปรับปรุงยกเครื่องการศึกษาอย่างขนานใหญ่ได้ เนื่องจากปัจจัยเรื่องความเฉื่อยช้าของระบบราชการ, การขาดแคลนแนวความคิดในเรื่องวิธีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และความย่ำแย่ของระบบการคัดเลือกและการฝึกอบรมผู้ที่จะเป็นครูอาจารย์
บันทึกการเข้า

รักนะ...จุ๊บ จุ๊บ
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


Powered by MySQL Powered by PHP Valid XHTML 1.0! Valid CSS!