หัวข้อ: ADBชี้ยอด'ชนชั้นกลาง'เอเชียจะพุ่งสูงและเปิดยุคทองทางธุรกิจภายในปี2030 เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ สิงหาคม 20, 2010, 09:40:02 AM ADBชี้ยอด'ชนชั้นกลาง'เอเชียจะพุ่งสูงและเปิดยุคทองทางธุรกิจภายในปี2030
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ เอเอฟพี - ชนชั้นกลางคือกลุ่มเป้าหมายในอุดมคติของนักการตลาดทุกคน และยังเป็นอนาคตของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย และมาในวันนี้ ผลการศึกษาชิ้นใหม่ล่าสุดชี้ว่า ชนชั้นกลางของเอเชียมีอัตราการเติบโตที่น่าทึ่งมากที่สุด "The Rise of Asia's Middle Class" (การผงาดขึ้นมาของชนขั้นกลางของเอเชีย) เป็นรายงานผลการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (19) โดยมีการทำนายว่า พลังการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในกลุ่มชนชั้นกลาง (กลุ่มที่บริโภคในวงเงิน 2-20 ดอลลาร์ต่อวัน) จะทวีตัวขึ้นไป 8 เท่าภายในเวลา 20 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ถึงลักษณะของกลุ่มชนชั้นกลางเอเชียด้วยว่า จะละม้ายกับชนชั้นกลางในซีกโลกตะวันตกผู้รุ่มรวย อาทิ ส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาดี ใช้ชีวิตในเขตเมือง มีลูกน้อยคน กับมีค่านิยมที่ก้าวหน้ามากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มักที่จะรับประทานมากเกินไป ออกกำลังกายน้อยเกินไป ตลอดจนมักที่จะกระตือรือร้นในเรื่องซื้อหารถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน การผงาดขึ้นมาของชนชั้นกลางในเอเชีย “อาจนำมาซึ่งปัญหาหลายประการ แต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจทั้งหลาย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก” รายงานของเอดีบีสรุปไว้อย่างนั้น ในการนี้ ภาพของชนชั้นกลางเอเชียจำนวนราว 1,900 ล้านคน ณ ปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในความรับรู้ของรายงานดังกล่าว เน้นมองไปที่จีนและอินเดีย สองประเทศเจ้าพ่อในแง่ของจำนวนประชากร จีนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการยกระดับทางเศรษฐกิจของคนยากคนจน และตามประมาณการของเอดีบีเมื่อปี 2008 จีนมีจำนวนของประชากรที่พ้นขึ้นมาจากระดับยากจนมากถึง 817 ล้านคน หรือราว 63% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจของจีนนั้นขยายใหญ่ขึ้นมาก ส่วนอินเดียมีจำนวนของชนชั้นกลางราว 274 ล้านคนในปี 2008 ซึ่งเท่ากับแค่หนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 1,100 ล้านคน รายงานของเอดีบีประมาณการว่า ภายในปี 2030 สองประเทศนี้จะมีพลเมืองมากกว่า 1,000 ล้านรายที่อยู่ในข่ายของชนชั้นกลางและชนชั้นเศรษฐี ซึ่งด้วยรายได้ที่สูงขึ้นของคนเหล่านี้ จะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนอย่างคึกคักตามกระแสการบริโภคสินค้าอย่างตู้เย็น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ และการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งนี้ มีประมาณการด้วยว่า มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยจะขยายไปถึงระดับ 32 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 จากมูลค่าเพียง 4.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2008 ในเวลาเดียวกัน ปัญหาที่จะตามมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมีมากมายทั้งในทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การแก่งแย่งกันครอบครองทรัพยากรน้ำ และความกดดันในเรื่องที่ดินทำกิน ตลอดจนปัญหาด้านสาธารณสุขและสุขภาพ โดยบรรดาโรคร้ายทั้งปวง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งจะพุ่งสูง ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนบ่งบอกถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดกว้างในช่วง 2-3 ทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างนวัตกรรมให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภค ณ สนนราคาต่ำลง เช่น เทรนที่ค่ายทาทาของอินเดียทำมาหากินอยู่ในปัจจุบัน คือการผลิตรถนาโน เพื่อป้อนตลาดในฐานะรถยนต์ที่ถูกที่สุดในโลก |