หัวข้อ: ชี้รอบกายมีเพื่อนดีแวดล้อม สุขภาพแข็งแรง-ชีวิตยืนยาว เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ สิงหาคม 14, 2010, 09:06:36 AM ชี้รอบกายมีเพื่อนดีแวดล้อม สุขภาพแข็งแรง-ชีวิตยืนยาว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ บีบีซีนิวส์ - นักวิจัยอเมริกันเชื่อการมีเครือข่ายเพื่อนและเพื่อนบ้านที่ดี เพิ่มโอกาสอยู่รอดถึง 50% ในทางกลับกัน ถ้ามีเพื่อนน้อย โอกาสในการมีชีวิตรอดอาจถูกลดทอนพอๆ กับการติดเหล้าติดบุหรี่ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง เชื่อแบบนี้หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลงานศึกษาเกือบ 150 ชิ้นที่เน้นที่ประเด็นโอกาสในการมีชีวิตรอดกับเครือข่ายทางสังคม รายงานที่อยู่ในวารสารพลอส เมดิซิน ระบุว่าการมีเพื่อนน้อยสามารถบั่นทอนโอกาสในการอยู่รอดพอๆ กับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือการติดเหล้า นักวิจัยยังเชื่อว่า การดูแลคนอื่นทำให้เราใส่ใจตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีคำเตือนว่าเครือข่ายสังคมในโลกสมัยใหม่กำลังอ่อนแอลง เนื่องจากคนทุกวันนี้ต้องดิ้นรนและรับผิดชอบทั้งงานและครอบครัว ตลอดจนการหาสมดุลชีวิตกับงานที่เป็นสุข การสูญเสียการสนับสนุนทางสังคมอาจทำให้โอกาสในการมีชีวิตรอดลดลงมากกว่าผลจากการเป็นโรคอ้วนหรือการไม่ออกกำลังกาย จูเลียนน์ ฮอลต์-ลันด์สแต็ด ผู้นำการวิจัย ระบุว่ามีหลายวิธีที่เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และครอบครัวช่วยส่งเสริมสุขภาพและภาวะที่เป็นสุขได้ “เมื่อเราเชื่อมโยงกับกลุ่มและรู้สึกรับผิดชอบต่อคนอื่นๆ ความรู้สึกของวัตถุประสงค์และความหมายจะทำให้เราหันมาดูแลตัวเองดีขึ้นและลดพฤติกรรมเสี่ยงลง” ในการศึกษานี้ที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 300,000 คนจาก 4 ทวีปในระยะเวลา 7 ปี พบว่าคนที่มีเครือข่ายสังคมแน่นแฟ้นที่สุดมีสุขภาพดีที่สุดและมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวที่สุด โดยมีแนวโน้มมีชีวิตรอดในช่วงอายุที่ระบุมากกว่าคนที่เปลี่ยวเหงาเกือบ 2 เท่า (1.5 เท่า) การศึกษานี้ครอบคลุมคนทุกวัยและจากภูมิหลังต่างๆ ทว่า ยังได้ผลลัพธ์คงเดิมไม่ว่าภาวะสุขภาพเบื้องต้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทิโมธี สมิธ ผู้ร่วมวิจัย เสริมว่าผลจากเครือข่ายสังคมไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น แต่สามารถปกป้องคนทุกวัยได้ อย่างไรก็ดี สมิธเตือนว่าความสะดวกสบายและเทคโนโลยีสมัยใหม่อาจทำให้บางคนคิดว่าเครือข่ายสังคมแบบเจอหน้าค่าตาไม่จำเป็นอีกต่อไป คริสติน นอร์ธแทม ที่ปรึกษาของรีเลต เห็นด้วยว่ามิตรภาพสำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษย์ “เราถูกออกแบบมาให้อยู่และทำงานเป็นกลุ่ม เริ่มจากตอนเป็นเด็กกับครอบครัว แล้วโรงเรียนก็ทำให้เครือข่ายสังคมของเราขยายออกไป “สัมพันธภาพส่งเสริมสุขภาพจิตใจและภาวะที่เป็นสุข ในทางกลับกัน ความโดดเดี่ยวเชื่อมโยงกับโรคทางจิตใจ ความกังวลและการเจ็บไข้” มิเชล มิตเชลล์ จากเอจ ยูเค ขานรับว่าความป่วยไข้อาจเป็นอุปสรรคในการรักษาเครือข่ายสังคม “เราต่างรู้กันดีว่าเครือข่ายสังคมสำคัญอย่างยิ่งต่อภาวะที่เป็นสุขของผู้สูงวัย แต่น่าเศร้าที่ 1 ใน 10 ของกลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไปบอกว่าเหงาบ่อยๆ หรือเหงาตลอด “ผู้สูงวัยมากมายมีปัญหาในการรักษาเครือข่ายสังคม เนื่องจากปัญหาในการเดินเหิน การเข้าถึงระบบขนส่ง หรือหลังการตายของคู่ครอง “ความโดดเดี่ยวและอ้างว้างที่หลายคนเผชิญอยู่ ยังอาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้” ศาสตราจารย์แซลลี แมคอินไทร์ ผู้อำนวยการหน่วยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและสังคมของสภาวิจัยทางการแพทย์ของอังกฤษ ทิ้งท้ายว่าผู้วางนโยบายและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขควรให้ความสนใจรายงานชิ้นนี้ และหาวิธีใช้เครือข่ายสังคมลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต |