หัวข้อ: กว่าจะเป็นนักบินอวกาศ เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ สิงหาคม 02, 2010, 10:27:34 PM กว่าจะเป็นนักบินอวกาศ
รู้หรือไม่ว่า กว่าจะเป็นนักบินอวกาศได้นั้นจะต้องผ่านด่านผ่านการทดสอบใดบ้าง? เริ่มกันด้วย คำว่า "นักบินอวกาศ" ที่ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า "Astronaut" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ "Astro" ที่หมายถึงดวงดาว และ "nautes" ซึ่งหมายถึงกะลาสี ดังนั้น "Astronaut" จึงหมายถึง "ลูกเรืออวกาศ หรือ มนุษย์อวกาศ" มนุษย์อวกาศ มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือ 1. นักบินผู้ควบคุมยานอวกาศ (Pilot astronaut) มีหน้าที่ควบคุมยานอวกาศ 2. ผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน (Mission astronaut) ทำหน้าที่หรือทำงานเฉพาะอย่างหรือเฉพาะเรื่องนั้นๆ 3. มนุษย์อวกาศที่ทำงานเกี่ยวกับ Payload (Payload specialist astronaut) ทักษะที่สำคัญของการเป็นนักบินอวกาศ คือ... ทักษะภาษาอังกฤษ การทำงานเป็นทีม และมีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ทุกสาขา ขณะที่สาขาวิชาหรือหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบินอวกาศ คือ วิศวกรรมอากาศยาน และ หลักสูตรการเป็นนักบิน รวมถึงความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยา ในกรณีที่จะต้องไปสำรวจดาวเคราะห์ หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่จะต้องทำงานวิจัยในอวกาศ เช่น วัสดุ การแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกเพื่อให้เป็น นักบินอวกาศ ได้นั้น จะต้องผ่านการทดสอบและการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาวะรุนแรงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการฝึกให้ร่างกายชินกับ สภาวะไร้น้ำหนัก (Microgravity) บททดสอบเรื่องการควบคุมการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ด้วยเครื่อง Virtual Reality (VR) ซึ่งจะมีแว่นที่มีจอภาพติดอยู่ที่ตา ถุงมือที่เชื่อมต่อไปยังจอที่ตาของผู้ฝึก ซึ่งจะทำให้เห็นภาพจำลองส่วนต่างๆ ของสถานีอวกาศนานาชาติ เสมือนอยู่ในอวกาศจริงๆ สำหรับองค์การนาซา (NASA) ได้มีการฝึกการลอยอยู่ในอวกาศ ด้วยการฝึกให้ผู้ฝึกลอยตัวในสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ NASA's Neutral Buoyancy Laboratory ณ ศูนย์วิจัยจอห์นสัน ซึ่งสระว่ายน้ำนี้มีความยาวถึง 31 เมตร กว้าง 31 เมตร และลึก 12.5 เมตร ด้วยความจุน้ำ 20 ล้านลิตร เรียบเรียงจาก สุปราณี สิทธิไพโรจน์กุล, ยงยุทธ บัลลพ์วานิช และอาภาภรณ์ บุญยรัตนพันธุ์. เทคโนโลยีอวกาศ ระดับมัธยมศึกษา. ปทุมธานี : ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2552. (หน้า 88-89) ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) |