หัวข้อ: ป.ตรี ไร้ค่า ใช้วุฒิ ปวช. สมัครงาน เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กรกฎาคม 22, 2010, 06:39:31 PM ป.ตรีไร้ค่าใช้วุฒิปวช.สมัครงาน (ไทยโพสต์)
นายกสมาคม รร.อาชีวะเอกชน เผยแรงงาน ป.ตรี ทิ้งใบปริญญา ใช้วุฒิ ปวส.-ปวช. สมัครงานอื้อ เร่งรัฐบาลสร้างแรงจูงใจเด็กเรียนวิชาชีพเพิ่ม ขณะที่เลขาฯ กอศ.สบช่องขอแรงสนับสนุนเพิ่ม ฟุ้งสถาบันอาชีวะที่จะเกิดช่วยได้ คาด 2 ปีเห็นผลผลิตคนได้ตรงความต้องการของประเทศแน่นอน นายวีรวัฒน์ วรรณศิริ นายกสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อวางแผนผลิตกำลังคน (กรอ.ศธ.) กล่าวถึงปัญหาการผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามความต้องของตลาดแรงงาน ว่า ปัจจุบันยังคงมีปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ยังพบว่ามีนักศึกษาที่เรียนในสายวิชาชีพ อาทิ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แล้วเรียนต่อระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่ง ยอมใช้ ปวช.และ ปวส.เพื่อสมัครเข้าทำงาน เนื่องจากสถานประกอบการณ์หลายแห่งไม่ต้องการจ้างงานระดับ ป.ตรี ซึ่งนอกจาก ป.ตรี ที่ยอมเข้าทำงานโดยใช้วุฒิการศึกษาต่ำกว่าที่จบแล้ว ยังพบอีกว่า มีนักศึกษาที่จบ ป.ตรี แล้วต้องเข้าเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้นต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ โดยไม่ได้ใช้วุฒิที่จบในระดับ ป.ตรี ไปใช้เพื่อเข้าทำงาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้จะยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเป็นทางการ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการศึกษาในภาพรวมยังไม่สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาประเทศ หากดูที่นักศึกษาจบ ป.ตรี ที่ยอมทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยยังไรทิศทาง ขาดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน และยังไม่มีหน่วยงานที่ตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง ดังนั้นคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในระยะสั้นคือต้องกล้าตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ที่จะหามาตรการเข้ามาจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อให้ทันกับการตัดสินใจของผู้เรียนที่จะเลือกระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ เพราะการตัดสินใจดังกล่าว ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี สำหรับ ปวช. อีก 5 ปี สำหรับ ปวส. ก่อนจะออกมาสู่ตลาดแรงงานในระยะกลาง ต้องมีการปรับแผนการศึกษาให้มีการเลือกเรียนสายอาชีพมากขึ้น โดยลบความเชื่อค่านิยมผิดๆ ที่ว่า เรียนในระดับที่สูงขึ้นมีโอกาสในการทำงานมากกว่า โดยไม่คำนึงว่าสาขาที่เรียนนั้นหาตำแหน่งงานยาก เพราะประเด็นสำคัญคือ หากเลือกตรงกับสาขาที่ได้งานก็จะมีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้เช่นกัน ขณะที่ระยะยาว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องทำงานประสานกันเพื่อรับมือกับปัญหานี้ โดย สศช.ต้องเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์ว่าประเทศจะพัฒนาไปในลักษณะใด เพื่อให้กระทรวงแรงงานสำรวจความต้องการแรงงานมาป้อนตามความต้องการได้ โดย ศธ.จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการผลิตบุคลากรให้ตรงกับตลาด ด้าน น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ กอศ.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าปัญหาส่วนหนึ่ง จะบรรเทาลงหากสถาบันอาชีวะจัดตั้งขึ้นแล้วเสร็จ หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานอยากที่จะให้ กอศ.เข้าไปช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม องค์กรของเราพร้อมที่จะเข้าไปช่วยในทุกมิติ เมื่อตอนเข้ามารับตำแหน่งมีความมั่นใจว่าอาชีวะมีศักยภาพที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ โดยคาดว่าใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็จะเห็นผล และภายใน 4 ปี จะมีความเป็นรูปธรรมสามารถผลิตคนได้เพียงพอและตรงตามความต้องการของประเทศแน่นอน แต่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและศึกษารายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป |