หัวข้อ: กทม เปิดตัวหลักสูตร โตไปไม่โกง สร้างค่านิยมต้านคอร์รัปชั่น เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ มิถุนายน 23, 2010, 08:41:58 PM เปิดตัวหลักสูตร "โตไปไม่โกง" สร้างค่านิยมต้านคอร์รัปชั่น (กรุงเทพมหานคร)
กทม. สร้างหลักสูตรใหม่กระตุ้นเด็กกทม. สร้างภูมิคุ้มกันตนเอง ให้ห่างไกลจากความไม่ถูกต้องและการคอร์รัปชั่น นำร่องเบื้องต้น รร.กทม. 228 แห่ง ตั้งแต่อนุบาล - ป.3 (22 มิ.ย. 53) เวลา 15.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ โรงเรียน สีขาวหลักสูตร "โตไปไม่โกง" (Anti-Corruption) โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายภิญโญ ทองชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมแถลง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จัดโครงการโรงเรียนสีขาว "หลักสูตร โตไปไม่โกง" (Anti Corruption) ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างค่านิยมและปลูกจิตสำนึก ที่ถูกต้องให้แก่เยาวชน ในการร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยให้เด็กที่อยู่ ในวัยเจริญเติบโตได้ซึมซับวิธีคิดและวิธีดำรงชีวิตทั้งจากบทเรียน กิจกรรมในโรงเรียน การอบรมสั่งสอนของครู และการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพื่อเป็นการวางรากฐานเกี่ยวกับความถูกต้องและความเป็นธรรมในมิติต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยในเบื้องต้นจะจัดให้มี การอบรมครูผู้สอนจำนวน 10 รุ่น และเริ่มทำการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 228 แห่ง ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ในเดือน ส.ค. นี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปลูกฝังจิตสำนึก และค่านิยมที่ดีงามนั้น ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือและการบูรณาการจากทุกภาคส่วน รวมทั้งศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม การใช้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การออกแบบหลักสูตร การจัดกิจกรรมและการสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละวัยร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างการตระหนักรู้ความเข้าใจ และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง และเป็นแรงผลักดันให้เด็ก แต่ละคนรู้สึกต่อต้าน และกล้าต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง โดยนึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก อันจะส่งผล ที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนในที่สุด |