หัวข้อ: พบบันเทิงไทยหยาบ-ไร้สาระเสนอจัดเรตติ้ง เริ่มหัวข้อโดย: ABC ที่ มิถุนายน 18, 2010, 05:14:08 PM พบบันเทิงไทยหยาบ-ไร้สาระเสนอจัดเรตติ้ง (ไทยโพสต์)
มีเดีย มอนิเตอร์ เปิดผลสำรวจรายการบันเทิงไทย พบมีเนื้อหาส่อลามกอนาจาร ความรุนแรง พิธีกรมักใช้ภาษาจิก แฝงเรื่องเพศ ชู้สาว มีโฆษณาแฝงกว่า 70% นักวิชาการเสนอจัดเรตติ้งให้เข้มขึ้น วันที่ 17 มิถุนายน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) เปิดเผยว่า โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อร่วมกับ สสส. ได้สำรวจเรื่อง "รายการข่าวบันเทิงในฟรีทีวี" (ช่อง 3, 5, 7, 9, NBT และทีวีไทย) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2552 ผลสำรวจพบว่า รายการข่าวบันเทิงในฟรีทีวีทั้งสิ้น 30 รายการ มีข่าวบันเทิงทั้งหมด 1,052 ชิ้น รวมเวลาออกอากาศ 2,315 นาทีต่อสัปดาห์ สถานีที่มีเวลาออกอากาศมากที่สุด - อันดับแรก ช่อง 3 จำนวน 6 รายการ 602 นาทีต่อสัปดาห์ - รองลงมาคือ ช่อง 5 จำนวน 7 รายการ 590 นาทีต่อสัปดาห์ - ช่อง 7 จำนวน 5 รายการ 362 นาทีต่อสัปดาห์ - ช่อง 9 จำนวน 6 รายการ 445 นาทีต่อสัปดาห์ - ช่อง 11 มี 1 รายการ 50 นาทีต่อสัปดาห์ - ช่องทีวีไทย มี 4 รายการ 266 นาทีต่อสัปดาห์ ทุกรายการเป็นเรต "ท" ทั่วไป ออกอากาศทุกวัน ทุกช่วงเวลา ความยาวอยู่ระหว่าง 5-45 นาที เนื้อหาส่วนใหญ่ที่รายการข่าวบันเทิงนำเสนอมากที่สุดคือ - อันดับแรก ข่าวคนดัง ดารา นักร้อง คิดเป็น 56% - รองลงมาคือ ข่าวโปรโมต 31% แ - ข่าวศิลปวัฒนธรรม 12% โดยเกือบ 2 ใน 3 ของข่าวทั้งหมด หรือ 63.7% ใช้แหล่งข้อมูลจากดารา นักแสดง นักร้อง ที่น่าเป็นห่วงคือ พบว่าในจำนวนข่าวบันเทิง 1,052 ชิ้น เป็นข่าวที่มีเนื้อหาส่งผลกระทบทางสังคม 54 ชิ้น คิดเป็น 5.32% โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องลามก อนาจาร เรื่องเพศ และความรุนแรง ขณะที่อีก 40 ชิ้น มีลักษณะใส่ความ หมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และเป็นข่าวที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 14 ชิ้น "สอดคล้องกับการใช้ภาษาในรายการข่าวบันเทิงที่ผู้ดำเนินรายการมักใช้ภาษาแบบแซวจิกกัดมากที่สุด รองลงมาคือ ภาษาแบบขำขัน ภาษาข่าวแบบหวือหวา ที่น่าตกใจคือ มีการใช้ภาษาแบบสองแง่สองง่าม ที่สื่อความหมายแฝงเรื่องเพศในลักษณะชู้สาว ลามก อนาจาร ซึ่งมักพบในทุกชิ้นข่าวที่เนื้อหาเน้นชีวิตรักของคนดัง" นายธามกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่ารายการบันเทิงส่วนใหญ่มักมีการโฆษณาทั้งทางตรงและแฝงจำนวนมาก โดยพบ 10 รายการที่มีระยะเวลาการโฆษณาเกินกำหนดของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้สามารถมีระยะเวลาในการโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง ส่วนการโฆษณาแฝงในข่าวบันเทิง จากการศึกษาแบบสุ่มรายการละ 5 เทป พบมีโฆษณาแฝงมากถึง 25 รายการ ส่วนใหญ่เป็นการโฆษณาแฝงในข่าวมากถึง 807 ชิ้น คิดเป็น 77% ขณะที่รายการข่าวบันเทิงมีอัตราค่าโฆษณาอยู่ระหว่าง 1-3 แสนบาทต่อนาที โดย พญ.พรรพิมล หล่อตระกูล ผู้จัดการโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อฯ กล่าวว่า รายการบันเทิงส่วนใหญ่เน้นการประชาสัมพันธ์และการโปรโมต และมีหลายรายการที่ไม่ได้จัดกรอบการนำเสนอแก่ผู้ชม ดังนั้น รายการข่าวบันเทิงจึงควรเน้นคุณภาพของข่าวบันเทิงให้มากขึ้น ไม่ควรให้ความสำคัญหรือพื้นที่ข่าวแก่ดารา นักร้องที่มีพฤติกรรมในทางลบ หากนำเสนอก็ควรเป็นไปในลักษณะสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ที่จะไม่เอาเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ด้าน ผศ.ดร.ชวนะ ภวกานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและการวางแผน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้รายการบันเทิงไทยมีพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะการทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ให้กับรายการ รายการบันเทิงส่วนใหญ่จึงมักนำเรื่องที่ประชาชนอยากรู้มานำเสนอ เช่น เรื่องชู้สาว เปลี่ยนแฟนของดารานักแสดงซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนสนใจ ขณะเดียวกันผู้ดำเนินรายการมักใช้คำพูดปลุกเร้าความรู้สึกให้ผู้ชมคล้อยตามกับข่าวนั้นๆ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไม่ค่อยสุภาพ พูดจาส่อเสียด หรือแม้แต่การวิจารณ์ดารานักแสดงแบบเกินเลย ใส่ความว่าคนโน้นคนนี้โกหก ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ขอเสนอให้ทางหน่วยงานภาครัฐจัดระดับความเหมาะสมของสื่อหรือเรตติ้งในรายการบันเทิง เพื่อให้รายการต่างๆ ได้แบ่งระดับการนำเสนอข่าวบันเทิงให้เหมาะสมด้วย |