หัวข้อ: ส่งออก! ส่งสัญญาณอันตราย มะกัน-อียูส่อถังแตกเลื่อนเวลารับสินค้าไทย เริ่มหัวข้อโดย: songkhla ที่ กันยายน 14, 2011, 06:39:19 AM ส่งออก! ส่งสัญญาณอันตราย มะกัน-อียูส่อถังแตกเลื่อนเวลารับสินค้าไทย
สัญญาณร้าย! ผู้ส่งออกไทยกระอักเศรษฐกิจมะกัน–อียูทรุด ผู้ซื้อสั่งของแต่ขอเลื่อนเวลารับสินค้าไป 1 เดือน ส.อ.ท.ชี้ส่อแววลดคำสั่งซื้อสินค้าเสื้อผ้า–ฟุ่มเฟือย เหตุฝรั่งต้องประหยัด ด้าน “กิตติรัตน์” มอบนโยบายทูตพาณิชย์วันนี้ (14 ก.ย.) ยังฝันส่งออกปีหน้าโต 10% นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ในวันนี้ (14 ก.ย.) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ จะมอบนโยบายให้หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เพื่อเป็นแนวทางผลักดันการส่งออกสินค้าไทยในปี 55 ให้ขยายตัว 10% จากปีนี้ที่คาดมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 15% มูลค่า 224,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ “คาดปีหน้ามูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% เป็นไปได้แน่ เพราะกรมจะอัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย ทดแทนมูลค่าการส่งออกที่ลดลงในตลาดหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงจะผลักดันให้ผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้มากขึ้น เพราะตอนนี้อาเซียนเป็นตลาดหลักอันดับ 1 ของไทย” อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดคือ ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มถดถอย ซึ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มใดของไทยชะลอลงบ้าง รัฐบาลสหรัฐฯจะมีแผนปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง และกระทบการส่งออกสินค้าของไทย แต่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะเร่งผลักดันแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 (คิวอี 3) ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะมีเม็ดเงิน เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯได้สูงถึง 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้าจากสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ หลายรายเริ่มทำหนังสือขอเลื่อนเวลารับสินค้าจากผู้ประกอบการไทยให้ช้าลง 15-30 วัน โดย ไม่ยอมให้เหตุผลที่ขอเลื่อน แต่ ส.อ.ท.ถือว่ากรณีดังกล่าว จะเป็นสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลหามาตรการรับมือวิกฤติหนี้สินในอียูและการชะลอเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน หากไม่มีแนวทางป้องกันล่วงหน้า อาจมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยและการจ้างแรงงานในอนาคตแน่นอน “เศรษฐกิจของสหรัฐฯและอียูน่าจะมีโอกาสซึมยาวอีก 2 ปี ซึ่งในอนาคตกลัวว่าลูกค้า 2 ตลาดนี้จะลดคำสั่งซื้อลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ส่วนสินค้าที่ลูกค้าขอเลื่อนรับของส่วนใหญ่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและ สินค้าแฟชั่น เบื้องต้นแม้ลูกค้ายังจ่ายเงินเหมือนเดิมแต่ที่เป็นห่วงคือ กังวลว่าปัญหาจะลุกลามไปทั่วโลก” นายสมมาต กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรช่วยเหลือ เช่น การลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีความแข็งแกร่งรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เบื้องต้นต้องการให้คณะ กรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 3.25% เหลือ 2% ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรร่วมมือกับภาคเอกชนในการเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะตลาดอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งยังมีกำลังซื้อที่สูง “การลดต้นทุนการผลิตและการหาตลาดใหม่ๆมารองรับตลาดส่งออกไทย ถือว่ามีความจำเป็นมาก ดังนั้น กระทรวงคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรมองว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ดี เพราะตอนนี้อยู่ได้ก็เพราะเอกชนมีความเข้มแข็ง กว่า เอกชนอ่อนแอเมื่อใด เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤติมากขึ้น” ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้ขอร้องให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในสังกัด ส.อ.ท.อย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขายส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นในการอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีความต้องการสินค้าดังกล่าว ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท.ยังห่วงทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อและผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เพราะด้านเงินเฟ้อล่าสุดแรงกดดันเงินเฟ้อยังสูงอยู่ แต่ก็มีปัจจัยความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกด้วย ถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหยุดเงินเฟ้อ ธปท.พอใจหรือยังจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปหรือไม่นั้น คงบอกไม่ได้ เพราะกรอบการทำงานขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยการประชุม กนง.ครั้งหน้า 19 ต.ค.นี้ ต้องดูว่าจะให้น้ำหนักอันไหนมากกว่ากันระหว่างเงินเฟ้อกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ “อย่างไรก็ตาม การมีกระสุนไว้รองรับในยามที่เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบสูงในระยะต่อไป ถือเป็นเรื่องที่ดี และดอกเบี้ยไทยที่ระดับ 3.5% ถือว่ามีเสถียรภาพที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ในยามจำเป็น เช่นเดียวกันกับนโยบายการคลัง ก็ยังรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะหนี้สาธารณะยังไม่สูงอยู่ระดับ 40%” นายประสารกล่าว. |