หัวข้อ: ธนาคารกลางสวิสสกัดเงินฟรังค์แข็งค่า หลังภาคส่งออกถูกกระทบหนัก เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ กันยายน 06, 2011, 09:19:52 PM ธนาคารกลางสวิสสกัดเงินฟรังค์แข็งค่า หลังภาคส่งออกถูกกระทบหนัก
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 6 กันยายน 2554 16:44:26 น. ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์พยายามสกัดเงินฟรังค์ที่แข็งค่า ระบุมูลค่าเงินฟรังค์ในปัจจุบันส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการส่งออกและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโร-ฟรังค์ ขั้นต่ำไว้ที่ 1.20 ฟรังค์/ยูโร ผ่านการรับซื้อเงินยูโรไม่จำกัดจำนวน ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีผลบังคับใช้ในทันที และทำให้เงินยูโรแข็งค่าจากระดับ 1.10 ฟรังค์/ยูโร ก่อนการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว สู่ระดับ 1.21 ฟรังค์/ยูโร ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า จะเพิ่มเงินฝากให้กับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงลดดอกเบี้ย ขณะที่รัฐบาลสวิสก็ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มตัวเลขการใช้จ่าย 2 พันล้านฟรังค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ -------------------------------------------------------------------------- แบงก์ชาติสวิสประกาศทุ่มสุดตัวเพื่อทำให้‘เงินฟรังก์’อ่อนลงมา เอเจนซี - แบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ทำตลาดอัตราแลกเปลี่ยนถึงกับช็อกเมื่อวันอังคาร (6) โดยประกาศกำหนดเพดานสูงสุดอัตราแลกเปลี่ยนเงินฟรังก์สวิสของตน ความเคลื่อนไหวอย่างห้าวหาญคราวนี้เพื่อมุ่งสกัดกั้นแนวโน้มที่พวกนักลงทุนรู้สึกวิตกเกี่ยวกับความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงต่างหันมาใช้เงินตราสกุลนี้เป็นแหล่งหลบภัยชั้นดี แล้วเลยทำให้ฟรังก์สวิสมีค่าแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนกำลังทำท่าจะพาเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย ธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สวิส เนชั่นแนล แบงก์ (เอสเอ็นบี) ออกคำแถลงด้วยถ้อยคำภาษาที่บางตอนฟังอยู่รุนแรงยิ่ง โดยระบุว่าจะไม่ยอมอดทนปล่อยให้สกุลเงินตราของตนแข็งโป๊กจนกระทั่ง 1 ยูโรแลกได้ไม่ถึง 1.20 ฟรังก์สวิส และพร้อมที่จะปกป้องรักษาเป้าหมายนี้เอาไว้ให้ได้ แม้จะต้องออกรับซื้อเงินตราสกุลอื่นๆ ในปริมาณที่ไม่จำกัด ปรากฏว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้ทำให้มูลค่าของฟรังก์สวิสในตลาดลดฮวบลงทันทีประมาณ 8% ทั้งนี้เงินตราสกุลนี้ได้แข็งค่าขึ้นมาถึงราวหนึ่งในสามทีเดียว นับตั้งแต่การล้มครืนของวานิชธนกิจ เลห์แมน บราเธอร์ส ในปี 2008 ซึ่งถือเป็นสัญญาณของวิกฤตภาคการเงินที่ลุกลามไปทั่วโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินตราสกุลนี้เพิ่มค่าขึ้นมหาศาลเช่นนี้ เป็นเพราะพวกนักลงทุนใช้ฟรังก์สวิสเป็นแหล่งหลบภัย ในเวลาที่ต้องการถอยหนีออกจากวิกฤตหนี้สินภาครัฐของยูโรโซน ตลอดจนถอยห่างความปั่นป่วนผันผวนของตลาดหุ้น พวกนักวิเคราะห์มองว่า ในระยะสั้นแล้ว เอสเอ็นบีน่าจะสามารถป้องกันเงินตราของตนในระดับ 1.20 นี้ได้สำเร็จ เนื่องจากอยู่ในฐานะที่สามารถจะพิมพ์แบงก์อัดฉีดฟรังก์สวิสออกมาในปริมาณมากมายมหาศาล ทว่าสัมฤทธิ์ผลในระยะยาวนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มยูโรโซนด้วยว่าสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินภาครัฐของพวกตนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฐานะทางเศรษฐกิจและสุขภาพทางการเงินการคลังของรัฐบาลสวิส มีความแข็งแกร่งมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับของยูโรโซน ในคำแถลงของเอสเอ็นบีระบุว่า “ภาวะที่เงินฟรังก์สวิสกำลังมีค่าสูงเกินเลยไปมากในปัจจุบัน กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของสวิส และเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่ภาวะเงินฝืด” พร้อมกับบอกว่าจะบังคับให้เป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ตั้งเป้าหมายไว้นี้ “ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างสูงสุด และเตรียมพร้อมที่จะซื้อเงินตราสกุลต่างประเทศในปริมาณที่ไม่มีขีดจำกัด” ความเคลื่อนไหวคราวนี้ยังถูกมองว่าเป็นการเปิดฉากยิงระลอกใหม่ในสงครามเงินตรา โดยคาดหมายกันว่าญี่ปุ่นน่าจะต้องพยายามออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไป ถ้าหากปฏิบัติการของสวิตเซอร์แลนด์คราวนี้ผลักไสให้เม็ดเงินที่ต้องการแหล่งหลบภัย ไหลทะลักออกไปหาสกุลเงินตราญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ทองคำเป็นอีกตัวหนึ่งที่ถูกมองว่าน่าจะได้ประโยชน์จากการประกาศของเอสเอ็นบี โดยที่ในช่วงต้นๆ ตลาดวันอังคาร ก็ปรากฏว่าราคาทองคำพุ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ ทั้งฟรังก์สวิส, เยนญี่ปุ่น, และทองคำ ต่างถูกถือว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างปลอดภัยโดยเปรียบเทียบ ดังนั้นในภาวะที่กำลังเกิดความหวาดหวั่นกันว่าเศรษฐกิจโลกน่าที่จะถลำจมลงสู่ภาวะถดถอยอีกรอบหนึ่ง จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้พวกนักลงทุนถอนตัวออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า อย่างเช่น หุ้น และหันมาถือครองสินทรัพย์ที่ถือเป็นแหล่งหลบภัยเหล่านี้ อุลริเก รอนดอร์ฟ นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารคอมเมอร์ซแบงก์ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากเอสเอ็นบีมีฐานะที่มั่นคงมากๆ จึงสามารถพิมพ์แบงก์ออกมาอย่างมหาศาล และดังนั้นจึงน่าที่จะประสบความสำเร็จในการทำให้เงินฟรังสวิสอ่อนตัวอยู่ในระดับ 1 ยูโรแลกได้มากกว่า 1.20 ฟรังก์สวิส อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเวลานี้ก็มองไม่เห็นปัจจัยอะไรที่จะทำให้ฟรังก์สวิสอ่อนตัวลงไปกว่านี้อีก เพราะตลาดยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยในปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าวิกฤตในยูโรโซนกำลังจะคลี่คลาย ก่อนหน้านี้ เอสเอ็นบีเคยออกมาเตือนว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งอยู่ในภาวะชะงักงันอยู่แล้วในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ น่าที่จะชะลอตัวลงอย่างแรงในเดือนต่อๆ ไป ในสภาพที่เงินฟรังก์สวิสซึ่งแข็งโป๊กกำลังทำให้สินค้าออกของสวิส ตั้งแต่นาฬิกาหรูหราไปจนถึงยาเวชภัณฑ์ ดูมีราคาแพงลิ่วในตลาดต่างประเทศ |