หัวข้อ: สื่อมะกันเผย IMF โดนโจมตีระบบคอมพ์ครั้งใหญ่ เริ่มหัวข้อโดย: loveyou ที่ มิถุนายน 13, 2011, 02:22:37 AM สื่อมะกันเผย IMF โดนโจมตีระบบคอมพ์ครั้งใหญ่
เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ถูกโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอเอ็มเอฟ วานนี้(11) สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้นำในการแก้ไขวิกฤตยูโรโซนตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาแห่งนี้ เก็บบันทึกข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานะการคลังของนานาประเทศ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของตลาดโลก “นี่เป็นการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่ร้ายแรงมาก” เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟเผยกับ นิวยอร์ก ไทม์ส โดยระบุว่า การเจาะข้อมูลซึ่งกินระยะเวลานานหลายเดือน เกิดขึ้นก่อนที่ โดมินิก สเตราส์-คาห์น อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ไอเอ็มเอฟ จะตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายทางเพศแม่บ้านโรงแรมในนครนิวยอร์ก แม้ ไอเอ็มเอฟ จะยังไม่ออกแถลงการณ์ใดๆ ทว่า นิวยอร์ก ไทม์ส อ้างการให้สัมภาษณ์ของโฆษก ไอเอ็มเอฟ ที่ว่า ทางกองทุนฯกำลังเร่งตรวจสอบเหตุดังกล่าวอย่างเต็มที่ นิวยอร์ก ไทม์ส เผยด้วยว่า ธนาคารโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ตรงข้ามฝั่งถนนกับ ไอเอ็มเอฟ ได้ตัดการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ระหว่างองค์กรทั้งสองเพื่อความปลอดภัยแล้ว ซึ่งทางธนาคารโลกก็ยังไม่ออกมาเปิดเผยรายละเอียดใดๆเช่นกัน เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟทราบข่าวการโจมตีตั้งแต่วันพุธ(8)ที่ผ่านมา แต่ทางกองทุนฯไม่ได้ประกาศให้สาธารณชนทราบ แม้เจ้าหน้าที่จะไม่ยอมเผยต้นตอของการโจมตี แต่ นิวยอร์ก ไทม์ส ระบุว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากการปลอมอีเมล์ (Spear Phishing) ซึ่งหลอกให้ผู้รับคลิกเข้าไปในลิงค์อันตราย หรือเปิดโปรแกรมที่ทำให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้รับได้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กลุ่มแฮกเกอร์ “นิรนาม” (Annonymous) เคยประกาศโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของไอเอ็มเอฟ เนื่องจากไม่พอใจข้อปฏิบัติอันเข้มงวดที่ ไอเอ็มเอฟ ใช้เป็นเงื่อนไขในการออกเงินช่วยเหลือให้กรีซ IMF เผยถูก'แฮก'มา'หลายเดือน'ตื๊อฝังตัวเป็น'คนใน'ลอบดูข้อมูลลับ เอเจนซี / เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตกเป็นสถาบันยักษ์ใหญ่รายล่าสุดที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยขบวนการแฮกเกอร์ระดับพระกาฬ โดยสื่อดังสหรัฐฯ รายงานว่า กลุ่มมือดีเหล่านี้ได้พยายามเจาะเข้าระบบมาเป็นเวลานานหลายเดือนตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบุว่า เป้าหมายของจารชนกลุ่มนี้ ก็คือ ลักลอบฝังซอฟต์แวร์ที่จะทำให้ตนสามารถแสดงสถานะเป็น “คนใน” ภายในเครือข่ายดังกล่าวเพื่อจารกรรมข้อมูลลับด้านเศรษฐกิจที่ใช้ในการกำหนดนโยบายของสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ต้นตอของแฮกเกอร์ยังคงอยู่ในระหว่างการสืบสาวโดยเอฟบีไอและไอเอ็มเอฟ โดยที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า อาจเกี่ยวข้องกับรัฐบาลต่างชาติ หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานในฉบับวันเสาร์ (11) โดยอ้างเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า สถาบันการเงินระดับโลกซึ่งเป็นหัวหอกในการกอบกู้วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนตลอดช่วงหลายเดือนมาแห่งนี้ ถูกกลุ่มแฮกเกอร์ไม่ทราบฝ่ายโจมตีอย่างรุนแรงชนิดกัดไม่ปล่อยเป็นเวลานานหลายเดือนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานี้ “นี่เป็นการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่มาก” เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ เปิดเผยกับ นิวยอร์ก ไทมส์ โดยเสริมว่า การแฮกโจมตีเกิดขึ้นก่อนหน้าที่โดมินิก สเตราส์-คาห์น อดีตกรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟ จะตกเป็นผู้ต้องหาพยายามข่มขืนแม่บ้านทำความสะอาดของโรงแรมโซฟิเทลในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เสียอีก นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า วิธีการที่พวกแฮกเกอร์นี้ใช้ก็คือ สเปียร์ฟิชชิง (Spear Phishing) หรือ การหลอกล่อให้ผู้รับอีเมล คลิกเข้าไปในลิงค์อันตราย หรือ ตัวรันระบบโปรแกรมที่ทำให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลภายในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้รับยังเป้าหมายปลายทางได้ สื่อดังของสหรัฐฯ ฉบับนี้ รายงานด้วยว่า ธนาคารโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกับไอเอ็มเอฟ ได้ทำการตัดระบบเชื่อมต่อทางคอมพิวเตอร์ระหว่างองค์การทั้งสองเพื่อความปลอดภัยแล้ว ด้านทอม เคลเลอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนพรมแดนไซเบอร์ซึ่งทำงานให้ทั้งไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกที่สำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ระบุว่า เป้าหมายของกลุ่มแฮกเกอร์ในการเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของไอเอ็มเอฟครั้งนี้ ก็เพื่อลักลอบติดตั้งซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งลงไปในระบบอันจะทำให้ประเทศหนึ่งสามารถแสดงสถานะทางดิจิตอลเป็นคนในเพื่อโลดแล่นผ่านเครือข่ายของไอเอ็มเอฟได้ การปรากฏตัวบนเครือข่ายด้วยสถานะดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงแหล่งขุมทรัพย์ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งไอเอ็มเอฟได้อาศัยข้อมูลเหล่านี้ในการพิจารณากำหนดนโยบายส่งเสริมเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน, สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศอันสมดุล ตลอดจนจัดหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อช่วยเยียวยาประเทศสมาชิกที่เผชิญวิกฤตด้านการขาดดุลงบประมาณ “มันเป็นการโจมตีโดยมีเป้าหมาย” กล่าวโดย เคลเลอร์แมน ซึ่งยังมีฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาพันธ์ปกปักษ์ความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ (Cyber Security Protection Alliance) และอดีตเคยรับผิดชอบงานข่าวกรองในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ให้กับทีมบริหารเงินของเวิลด์แบงก์ และปัจจุบันยังเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีที่แอร์เพตรอล บริษัทที่ปรึกษาด้านระบบไซเบอร์ เคลเลอร์แมน ระบุว่า รหัสที่ใช้ในปฏิบัติการเจาะระบบไอเอ็มเอฟนี้ ถูกพัฒนาและนำมาใช้ด้วยจุดประสงค์ที่ว่านี้ ขณะที่บลูมเบิร์ก รายงานว่า ผู้รุกรานระบบคอมพ์ของไอเอ็มเอฟคราวนี้อาจโยงใยถึงรัฐบาลต่างชาติ หลังจากที่พบข้อมูลในอีเมลหลายฉบับและข้อมูลอื่นๆ ถูกจารกรรมไป อย่างไรก็ตามบลูมเบิร์ก ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลใด ส่วนผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ให้ทัศนะว่า เป็นการยากเอามากๆ ที่จะสามารถแกะรอยการเจาะระบบคอมพ์อันช่ำชองนี้ไปจนถึงต้นตอสุดของพวกแฮกเกอร์นี้ได้ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กลุ่มแฮกเกอร์ “นิรนาม” (Annonymous) เคยประกาศโจมตีระบบคอมพ์ของไอเอ็มเอฟ โดยให้เหตุผลว่าไม่พอใจในข้อปฏิบัติอันเข้มงวดที่ ไอเอ็มเอฟ ใช้เป็นเงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้แก่รัฐบาลกรีซ อย่างไรก็ตาม เดวิด ฮอว์ลีย์ โฆษกของไอเอ็มเอฟ ระบุเมื่อวันเสาร์ (11) ว่า ระบบคอมพิวเตอร์ของทางกองทุนยังคงใช้งานได้เต็มรูปแบบตามปกติ ถึงแม้จะถูกโจมตีดังกล่าวก็ตาม “ผมสามารถยืนยันได้ว่า พวกเรากำลังสืบสวนเหตุการณ์นี้อยู่” เขากล่าว โดยเสริมว่า เขาไม่ได้อยู่ในสถานภาพที่จะสาธยายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดได้ นอกจากนี้ ฮอว์ลีย์ ยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อสรุปของเคลเลอร์แมนเรื่องเป้าหมายของกลุ่มแฮกเกอร์ด้วย ขณะที่นาวาโทหญิง เอพริล คันนิงแฮม โฆษกเพนตากอน ระบุในอีเมลถึงรอยเตอร์เมื่อคืนวันเสาร์ (11) ว่า ตอนนี้ทางสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ได้ร่วมกับไอเอ็มเอฟ ในการสืบสวนเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้แล้ว รายงานข่าวการแฮกระบบคอมพิวเตอร์ไอเอ็มเอฟคราวนี้ นับเป็นข่าวล่าสุดหลังจากที่กระแสการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยที่เหยื่อทั้งหมดล้วนเป็นบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกและองค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล เสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่, ล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์อันดับหนึ่งของสหรัฐฯ, โบอิ้ง ผู้นำด้านอุตสาหกรรมเครื่องบินของโลก, โซนี ยักษ์อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ , รวมถึง นินเทนโด ผู้นำโลกด้านวิดีโอเกม เป็นต้น |