หัวข้อ: กระดูกพรุน ภัยเงียบสูงวัย ไทยแคลเซียมต่ำมาตรฐาน เริ่มหัวข้อโดย: webmaster ที่ กุมภาพันธ์ 22, 2011, 07:41:34 AM กระดูกพรุน ภัยเงียบสูงวัย ไทยแคลเซียมต่ำมาตรฐาน
หมอรามาฯ ชี้ภาวะกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบของผู้สูงอายุ เชื่อพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อโรคสูงกว่าวิถีชีวิต พบไทยผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น แคลเซียมต่ำกว่ามาตรฐาน แนะออกกำลังกาย ดื่มนม ลดปัจจัยเสี่ยง ที่ห้องประชุมออร์โธปิดิกส์ ชั้น 9 โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ กองอายุรกรรมโรคข้อและกระดูกโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคกระดูกพรุนในประเทศไทย และอันตรายของกระดูกข้อสะโพกหัก ซึ่งเป็นภัยเงียบของผู้สูงอายุว่า ขณะนี้ประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มสูงขึ้น และเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากตัวเลขทางสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า โรคกระดูกพรุน เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่มีความสำคัญต่อประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด โดยผู้หญิงมีโอกาสกระดูกหักจากโรคนี้มากถึงร้อยละ 30-40 ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาสกระดูกร้อยละ 13 หรือเท่ากับประชากรผู้ป่วย 1 ใน 5 อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคกระดูกพรุนให้หายขาด เช่น การผ่าตัด แต่ปรากฏว่าจะมีอัตราตายหลังผ่าตัดถึงร้อยละ 20 ขณะที่ผู้รอดชีวิตร้อยละ 80 มีถึงร้อยละ 40 ที่หลังผ่าตัดแล้วเดินไม่ได้ ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากโรคแทรกซ้อน อาทิ ปอดบวม ติดเชื้อ แผลจากการกดทับ เครียดจนอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งมีการใช้ยาต้านภาวะกระดูกพรุน โดยเป็นยา Bisphosphonate มี 2 ชนิด แบบยากิน และยาฉีด โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,000-20,000 ต่อปี แต่พบว่าการใช้ยาอัตราการตายของผู้ป่วยได้ดีกว่าการผ่าตัด แต่การให้ยานั้น แพทย์จำเป็นต้องตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อพิจารณาให้ยาตามความจำเป็น จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมาตรวจภาวะกระดูกพรุน รศ.นพ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมาก เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ทำให้มวลกระดูกของผู้หญิงในกลุ่มวัยนี้ลดลงถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี ขณะที่ผู้ชายจะลดลงร้อยละ 0.8 ดังนั้นแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เสริมการรับประทานแคลเซียมที่ได้จากอาหาร และนม ออกกำลังกายกลางแจ้ง รับวิตามินดี ทั่วไปควรได้รับแคลเซียมวันละ 800 แต่จากการศึกษาพบคนไทยได้รับแคลเซียมเพียงวันละ 361 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น |