หัวข้อ: “รวยไม่สนใจใคร” ท่าจะจริง ผลวิจัยชี้คนจนรู้อกเขาอกเรา เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ ธันวาคม 25, 2010, 01:16:18 AM “รวยไม่สนใจใคร” ท่าจะจริง ผลวิจัยชี้คนจนรู้อกเขาอกเรา
เอเจนซี – เผยคนรวยมีปัญหาในการรับรู้อารมณ์คนอื่น ตรงข้ามกับคนที่มีฐานะด้อยว่าที่เข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้างมากกว่า เนื่องจากต้องพึ่งพิงผู้อื่นบ่อยกว่า นักวิจัยคาดว่า กลุ่มตัวอย่างฐานะดีทำคะแนนทดสอบได้ต่ำเพราะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงใคร หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เพราะเงินทองทรัพย์สินที่มีเหลือเฟือทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยไหว้วานคนรอบข้าง ตรงข้ามกับคนที่ไม่มีปัญญาซื้อหาสินค้าหรือบริการด้วยตัวเองได้จึงต้องพึ่งเพื่อนบ้านหรือญาติ เช่น ขอให้ช่วยดูแลลูกขณะออกไปทำงานหรือทำธุระ ในการทดลองหนึ่งที่ใช้อาสาสมัครที่ทำงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งบางคนเป็นบัณฑิตของมหาวิทยาลัย แต่บางคนไม่ได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษา โดยนักวิจัยใช้ระดับการศึกษาเป็นตัวบ่งชี้ระดับชั้นทางสังคม ในสหรัฐฯ ที่ทำการศึกษานี้ บ่อยครั้งที่ “ชนชั้นสูง” หมายถึงระดับความรวยของคนๆ นั้นมากกว่าระดับชนชั้นที่ซับซ้อนกว่าในอังกฤษ อาสาสมัครทำแบบทดสอบการรับรู้อารมณ์ โดยดูภาพใบหน้า และระบุว่า แต่ละใบหน้ามีอารมณ์เช่นใด ผลปรากฏว่า คนที่มีการศึกษาสูงกว่าทำคะแนนได้ต่ำกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่า ในอีกการทดลอง นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าโดยพิจารณาจากมุมมองของนักศึกษาเองเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวของตน มีปัญหาในการอ่านอารมณ์คนแปลกหน้าระหว่างการสัมภาษณ์งานเป็นกลุ่มมากกว่า ทีมนักวิจัยระบุว่า ผลลัพธ์ที่ได้บ่งชี้ว่าคนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าอ่านอารมณ์คนอื่นได้ไม่ดีเท่าคนที่มีสถานะต่ำกว่า การทดลองสุดท้าย พบว่า เมื่อถูกทำให้รู้สึกว่าตนเองมีฐานะทางสังคมด้อยกว่าความเป็นจริง คนเหล่านั้นจะอ่านอารมณ์คนอื่นได้ดีกว่า งานศึกษาฉบับนี้ที่ตีพิมพ์ในไซโคโลจิคัล ไซนส์ วารสารของสมาคมวิทยาศาสตร์จิตวิทยา จัดทำโดย ดร.ไมเคิล เคราส์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานฟรานซิสโก ดร.เคราส์ ชี้ว่า ความสามารถในการอ่านอารมณ์คนอื่นไม่ใช่สิ่งที่ฝังอยู่ในตัวคนเรา แต่เป็นผลจากบริบททางวัฒนธรรม “งานศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าความคิดแบบเหมารวมเรื่องชนชั้นผิดถนัด คนที่อยู่ในชนชั้นระดับล่างไม่จำเป็นต้องฉลาดน้อยกว่าพวกชนชั้นสูงเสมอไป” “แต่เป็นเรื่องของบริบททางสังคมที่คนๆ นั้นอาศัยอยู่ และความท้าทายเฉพาะที่เขาต้องเผชิญ ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงบริบทแม้เพียงชั่วคราว ชนชั้นทางสังคมจะเปลี่ยนไปในลักษณะที่พฤติกรรมมากมายหายไป” |