หัวข้อ: อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจง ไม่เกี่ยวการตัดต้นไม้ที่เขาใหญ่ เกรงประชาชนเข้าใจผิด เริ่มหัวข้อโดย: น่ารักสุดๆ ที่ มิถุนายน 07, 2010, 06:27:00 PM อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจง ไม่เกี่ยวการตัดต้นไม้ที่เขาใหญ่ เกรงประชาชนเข้าใจผิด
หลังจากที่นายสมชัย เพียรสภาพร อธิบดีกรมป่าไม้ ออกมาระบุว่า กรมทางหลวงเป็นผู้ตัดต้นไม้ในพื้นที่ขยายถนนธนะรัชต์ เส้นทางมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างมากในสังคมถึงการทำลายต้นไม้า ล่าสุด นายวีระ เรืองสุขศรีวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวง ได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า กระบวนการตัดต้นไม้ กรมทางหลวงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากเป็นหน้าที่ของทรัพยากรป่าไม้ จ.นครราชสีมา อีกทั้งยังไม่มีเอกสารหรือหลักฐานที่ระบุข้อความที่มีการกล่าวหากรมทางหลวง จึงหวั่นว่าจะทำให้สังคมเข้าใจผิดได้ คาดว่าข้อความคงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นอกจากนี้นายวีระ ยังกล่าวอีกว่า กรมทางหลวงแจ้งต่อกรมทรัพยากรป่าไม้แล้ว ว่าไม่มีความต้องการใช้ไม้ กรมทรัพยากรจึงรับผิดชอบในการตัดต้นไม้และชักลาก ซึ่งกรมทางหลวงทำหน้าที่เพียงเป็นพยานว่ามีการตัดต้นไม้ชนิดใดบ้างและขนาดเท่าไหร่ เพราะหน้าที่หลักเป็นของกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากร ทางด้าน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริต และตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ วุฒิสภา กล่าวยืนยันว่า ถนนธนะรัชต์ อยู่ในเขตมรดกโลกอย่างแน่นอน ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมขัดต่อแผนบริหารจัดการเขาใหญ่ ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก เนื่องจากคำว่า มรดกโลก จะมีกฎเกณฑ์ ตามมาอีกมากมาย อาทิ จำนวนรถยนต์ที่วิ่งผ่าน และต้องไม่เป็นถนนขนาดใหญ่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อม การจะทำอะไรจึงต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมรดกโลกเสียก่อน เชื่อว่า นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ จึงไม่สมควรเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป ขณะที่เครือข่ายประชาชนมีผู้ร่วมลงนามในหนังสือถึงรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการในทันที เนื่องจากเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เขาใหญ่ โดยมีแถลงการณ์ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลยุติโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 2090 ถนนธนะรัชต์ ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 ถึง เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในทันที 2.ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมตรวจสอบอิสระขึ้นเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสทุกขั้นตอนของโครงการ จัดทำเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน และตรวจสอบความเสียหายทุกด้าน โดยให้หลายภาคส่วนมีส่วนร่วม 3.ให้รัฐบาลประกาศมาตรการเร่งด่วนในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตัดต้นไม้ ให้กลับคืนดังเดิมโดยประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม 4.ให้รัฐบาลยุตินโยบายที่มีแนวโน้มคุกคาม ก้าวร้าว ต่อผืนป่าอุทยานและแหล่งน้ำทั่วประเทศ 5.ให้ทบทวนกฎหมายที่ให้อำนาจในการทำลายผืนป่าและสิ่งแวดล้อม เช่น ที่ให้สิทธิกรมทางหลวง ตัดต้นไม้ก่อนทำหนังสือขออนุญาตทีหลัง เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวไม่ เหมาะสมกับภาวการณ์ปัจจุบัน 6.ขอให้สั่งพักราชการเจ้าหน้าที่และนักเมืองผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้ เพื่อตรวจสอบความจริงโดยอิสระ จนกว่าผลการสอบสวนจะเป็นที่กระจ่างต่อสาธารณะ 7.รัฐบาลต้องนำผู้กระทำผิดในกรณีนี้มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ของกลุ่มบุคคล |