หัวข้อ: ยาคุมกำเนิดแบบฉีดในเพศชาย เริ่มหัวข้อโดย: loveyou ที่ ตุลาคม 27, 2010, 11:55:42 PM ยาคุมกำเนิดแบบฉีดในเพศชาย
ก่อนหน้านี้คุณสุภาพบุรุษทั้งหลายคงเสียวสันหลังกันน่าดู หากจะต้องเป็นฝ่ายคุมกำเนิดแบบถาวรหรือกึ่งถาวร เพราะมีอยู่วิธีเดียวที่ได้ผลคือการผ่าตัดผูกท่อส่งน้ำอสุจิ แต่บัดนี้แพทย์เมืองจิงโจ้สามารถคิดค้นยาฉีดขนานใหม่ที่จะไปลดความแข็งแรงของตัวอสุจิ ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงได้สำเร็จ นักวิจัยชาวออสเตรเลียกลุ่มหนึ่งออกมาแถลงว่า พวกเขาประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีใหม่ในการคุมกำเนิดของเพศชาย โดยใช้การฉีดฮอร์โมนแทนการผ่าตัด ทำให้ผู้ชายทั้งหลายที่ต้องการจะคุมกำเนิดอย่างถาวรไม่ต้องทำการผ่าตัดอีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยแอนแซกในซิดนีย์ และสถาบันวิจัยทางการแพทย์ปรินซ์แฮรี่ในเมลเบิร์น ได้ร่วมกันคิดค้นวิธีคุมกำเนิดแบบฉีดในเพศชายได้เป็นครั้งแรก เพื่อหยุดยั้งการผลิตและทำให้ตัวอสุจิอ่อนกำลังลง โดยใช้ฮอร์โมนสำคัญสองตัวคือ “เทสโทสเตอโรน” และ “โปรเกสติน” ซึ่งใช้ในยาคุมกำเนิดของเพศหญิงฉีดเข้าไปในชายที่เป็นกลุ่มทดลอง การวิจัยครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ลองฉีดฮอร์โมนทั้งสองชนิดให้ผู้ชาย 55 คน เป็นเวลา 1 ปี โดยฉีดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทุกๆ 4 เดือน และฉีดฮอร์โมนโปรเกสตินทุกๆ 3 เดือน ซึ่งผลการทดลองพบว่าไม่มีภรรยาของชายคนใดตั้งครรภ์ตลอดช่วงการทดลอง อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดฮอร์โมนดังกล่าว นอกจากนั้น นักวิจัยยังจะนำฮอร์โมนทั้งสองชนิดมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม กลายเป็นยาคุมกำเนิดตัวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการจ่ายยาของแพทย์ โดยคาดว่าความถี่ในการฉีดนั้นอาจจะเป็นสามหรือสี่เดือนต่อครั้ง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในลักษณะนี้แพทย์ของอังกฤษเคยทำการทดลองมาแล้ว แต่ล้มเลิกไปเนื่องจากเกิดผลข้างเคียงในกลุ่มผู้ทดลอง เพราะการให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากเกินไปทำให้ระดับคอเลสเตอรอลเอชดีเอ (HDA) ลดลง แต่การทดลองครั้งใหม่ในออสเตรเลียก็หาทางแก้ โดยนำฮอร์โมนตัวอื่นผสมลงไปด้วย เช่น ฮอร์โมนที่ใช้ในยาคุมกำเนิดของเพศหญิง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่เคยเกิดขึ้น แต่จะมีผลข้างเคียงอื่นตามมาหรือไม่ ต้องใช้เวลาอีกระยะในการติดตามผล ถ้าไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ในอนาคตผู้ชายก็คงไม่ต้องหวาดกลัวและเจ็บตัวจากการ “ทำหมัน” หรือ “คุมกำเนิดถาวร” อีกต่อไป ข้อดีอีกอย่างคือเลิกฉีดเมื่อไหร่ ก็สามารถกลับมามีบุตรได้อีกครั้ง ในขณะที่การผ่าตัดท่อส่งอสุจิอาจเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยในบางราย |